หมวดหมู่บทความ พบคุณหมอเด็ก Q&A

Search by tag : พบคุณหมอเด็ก, Q&A, Q&A หมอนพมาศ


1 ขวบ 3 เดือนแล้วแต่ยังไม่ยอมเดิน PDF Print E-mail
Written by Administrator   
Monday, 02 November 2015
Q  คุณหมอคะ ลูกดิฉันอายุ 1 ขวบ 3 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ยอมเดินเองเลยค่ะ แต่สามารถเกาะเฟอร์นิเจอร์เดินได้รอบบ้าน ปีนบันไดได้ เวลาจูงสองมือก็เดินได้ แต่พอปล่อยมือก็เหมือนแกกลัวๆ จะยืนอยู่อย่างนั้นไม่กล้าเดินค่ะ ควรทำอย่างไรดีให้แกยอมเดินเองคะ ดิฉันเห็นเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่จะเดินได้แล้ว เลยค่อนข้างกังวลน่ะค่ะ /  แม่น้องคูเปอร์ กรุงเทพฯ​  

A การพัฒนาการของเด็ก จะเป็นไปตามขั้นตอน เริ่มจากมอง ยิ้ม หันศีรษะไปรอบๆ ยกศีรษะ คว่ำ ย้ายของจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่ง นั่ง คลาน เกาะยืน ยืนเอง เดินโดยการเกาะเดิน และเดินได้ด้วยตนเอง ช่วง 15 เดือนเป็นช่วงที่สำคัญช่วงหนึ่งของการพัฒนาการ เพราะเด็กวัยนี้ 90% จะเดินได้ ทำให้สามารถสำรวจสิ่งของ ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากและสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น แต่กว่าเด็กจะยืนและเดินได้ เด็กต้องมีพัฒนาของกล้ามเนื้อต่างๆ มาเป็นลำดับ ต้องมีพัฒนาการด้านการทรงตัว จนในที่สุดเขาจะมีความกล้าและความมั่นใจในการเดิน ซึ่งต้องการการฝึกฝน เด็กส่วนใหญ่จะเดินก้าวแรกได้ตอน 11 ถึง 14 เดือน แต่เวลาอาจยืดหยุ่นได้ เช่น เด็กบางคนอาจเดินได้ตั้งแต่ 8 เดือน บางคนเดินได้ตอน 17 เดือน ซึ่งพ่อแม่ไม่ควรเป็นกังวลจนเกินไป
น้องคูเปอร์เดินได้เมื่อมีคนจูง ซึ่งคิดว่าอีกไม่นานน้องจะเดินได้เอง ลองเชียร์ และให้น้องเดินเข้าหาคุณในระยะใกล้ๆ ดู ถ้าทำได้ก็ค่อยๆ ถอยระยะระหว่างคุณกับน้องคูเปอร์ให้ไกลขึ้นๆ เชื่อว่าน้องกำลังจะเดินได้ในเร็วๆ นี้ค่ะ การพัฒนาการทุกอย่างของเด็กจะเป็นไปตามขั้นตอน จะไปเร่งให้เร็วขึ้นคงทำไม่ได้ หมอเห็นผู้ปกครองบางคนให้เด็กนั่งเก้าอี้ที่เลื่อนได้ และเด็กจะสามารถเคลื่อนตัวไปไกลๆ ได้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการฝึกให้ยืนและเดินได้เร็ว ซึ่งไม่เป็นความจริง เก้าอี้เลื่อนได้เหล่านี้ อาจทำให้เด็กสนุก แต่อาจมีอันตรายได้ ถ้าผู้ใหญ่ไม่มีเวลาเฝ้าอย่างใกล้ชิด
สรุปคือ พัฒนาการการเดินของน้องคูเปอร์ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ต้องกังวล คุณแม่คงต้องเตรียมตัว ดูแลเรื่องความปลอดภัยเมื่อน้องเดินได้ เช่น ปลั๊กไฟ มุมโต๊ะ ฯลฯ ระวังน้องเดินชนและเอื้อมมือไปจับของที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า ของมีคมต่างๆ ส่วนของเล่นสำหรับเด็กที่เดินได้ ก็คือของเล่นประเภทลากจูงหรือผลักค่ะ

ขอวิธีหย่านมขวด

Q สวัสดีค่ะคุณหมอลำดวน ลูกสาวอายุ 4 ขวบค่ะ แต่ยังติดขวดนมอยู่เลยค่ะ เวลาไปโรงเรียนก็ยอมกินนมจากแก้วนะคะ แต่อยู่บ้านจะไม่ยอมเลย และมีบางวันที่ลูกโยเยมากก็ต้องยอมให้เอาขวดนมติดไปโรงเรียนค่ะ ทำอย่างไรให้ลูกเลิกกินนมจากขวดได้คะ และอยากทราบว่า การที่เด็กดูดนมจากขวดนานๆ จะทำให้ฟันเหยินจริงหรือเปล่าคะ / แม่น้องลูกพีช จ.นนทบุรี 

A น้องลูกพีช หย่าขวดนมช้าไปหน่อยนะคะ สมัยนี้พอเด็ก 6 เดือน ถ้าสังเกตเห็นว่าเด็กเริ่มไม่สนใจดูดนมจากขวด เช่น โยนขวดนม กัดหัวจุกนม หรือเล่นกับขวดนมแทนที่จะดูด พ่อแม่ก็อาจจะเริ่มป้อนนมจากถ้วย หรือจากช้อนบางคน 9 ถึง 12 เดือน ก็หย่านมขวดและหันมาดื่มจากถ้วยได้แล้วค่ะ
American Academy of Pediatrics  แนะนำให้เปลี่ยนจากการดูดนมจากขวดมาเป็นการดื่มจากถ้วยเมื่ออายุเด็ก 12 ถึง 18 เดือน โดยเริ่มลดจำนวนนมที่อยู่ในขวดทีละออนซ์ ทุก 2 - 3 วัน และให้ดื่มนมจากถ้วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเด็กเลิกดูดนมในที่สุด หรือ จะอดโดยพ่อแม่ค่อยๆ ตัดการดูดนมขวดออกทีละมื้อ ทุก 3 - 4 วัน เช่น ลองให้เด็กเล็กดูดนมขวดในมื้อบ่ายก่อน อีก 3 - 4 วัน ค่อยให้เลิกดูดนมขวดในมื้อเช้า ส่วนมื้อก่อนนอน จะเป็นมื้อที่ยากที่สุดในการอด ยิ่งเราอดนมขวดจากลูกช้า ก็จะยิ่งอดยากขึ้น เพราะเด็กจะต่อต้านมากกว่าเด็กเล็ก เราอาจเติมน้ำแทนนมใส่ขวดให้เด็กดูดแทนซึ่งเด็กอาจจะไม่ชอบเท่านม ทำให้เด็กยอมเลิกได้ง่ายขึ้น การให้อาหารว่าง และให้เด็กดื่มนมจากแก้ว ช่วงค่ำๆ อาจทำให้เด็กเรียกร้องขวดนมน้อยลง
อาจจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น พาไปเที่ยวพาไปเยี่ยมญาติ อาจทำให้เด็กอดนมขวดได้ง่ายขึ้น เพราะเด็กมีกิจกรรมใหม่ๆ และต้องพยายามเชียร์ให้เด็กดื่มนมจากถ้วยแทน ให้เก็บขวดนมให้มิดชิดอย่าให้เด็กเห็น ฯลฯ
ช่วงแรกๆ คงจะลำบากหน่อย แต่ก็ต้องทนเพราะถ้าปล่อยให้ดูดนมขวดไป ฟันจะเหยิน และผุค่ะ

ไมเกรนกับแม่ตั้งครรภ์

Q คุณหมอลำดวนคะ ดิฉันตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนแล้วค่ะ ปัญหาคือดิฉันมีโรคประจำตัวคือเป็นไมเกรนและโรคกระเพาะค่ะ อยากขอคำแนะนำจากคุณหมอว่า หากเกิดอาการของสองโรคนี้ระหว่างตั้งครรภ์ควรทำอย่างไร และยาชนิดไหนที่รับประทานได้อย่างปลอดภัย อยากให้คุณหมอช่วยตอบด้วยค่ะ / ญาณิน จ.นครศรีธรรมราช

A สาเหตุของการปวดศีรษะที่พบบ่อยส่วนใหญ่เกิดจาก การปวดศีรษะจากความเครียด และการปวดศีรษะจากโรคไมเกรน
ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ จะมีการปวดศีรษะจากความเครียดได้บ่อย ลักษณะการปวดจะเป็นการปวดตื้อๆ ทั้ง 2 ข้างของศีรษะและปวดด้านหลังของคอ
การปวดศีรษะจากความเครียด ถูกกระตุ้นโดย การอดกาแฟแบบหักดิบ (สำหรับคนที่ติดกาแฟ และเลิกตอนตั้งครรภ์), อดนอน, ใช้สายตามาก, เครียด, ซึมเศร้า, หิวข้าว, หิวน้ำ
คนที่ปวดศีรษะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ พอเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 อาการจะดีขึ้น อาจเป็นเพราะเราเริ่มชินกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ส่วนการปวดศีรษะแบบไมเกรนจะเป็นการปวดหัวแบบตุ๊บๆ มักจะเป็นข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ไวต่อแสงจ้าและเสียงดัง ผู้ป่วยบางคนที่เป็นไม่เกรนจะมี aura คือมีการเห็นแสงระยิบระยับ ก่อนมีอาการปวด ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยไมเกรนมีอาการดีขึ้นในช่วงตั้งครรภ์
คนที่เป็นโรคไมเกรน ไม่ได้มีโรคแทรกซ้อนช่วงตั้งครรภ์มากกว่าคนที่ไม่ได้เป็น ยาที่ใช้รับประทานเวลาปวด น่าจะลองใช้ Paracetamol ก่อนถ้าไม่ดีขึ้น ต้องใช้ยาแรงขึ้นควรปรึกษาแพทย์ก่อน คนที่เป็นไมเกรน ควรหาสาเหตุว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ปวดศีรษะอาจเป็น อาหารที่มีผงชูรส, สารกันบูด, Nitriles สารที่ทำให้เนื้อเป็นสีแดง เช่น ไส้กรอก, น้ำตาลเทียม, อาจเป็นอาหารที่เรากินบ่อยๆ เช่น ถั่วค่าง ฯลฯ, อาจเป็นการจ้องมองแสงกะพริบ, เสียงที่ดัง, กลิ่นฉุน, การสูบบุหรี่, อาจเป็นที่อากาศร้อน หรือหนาวเกินไป
การประคบร้อน จะช่วยให้อาการปวดศีรษะจากความเครียดดีขึ้น แต่สำหรับไมเกรน ควรใช้การประคบเย็น อาจใช้วิธีอาบน้ำเย็นในคนไข้ไมเกรน และอาบน้ำอุ่นในคนไข้ที่ปวดศีรษะจากความเครียด คุณญาณินคงต้องจดให้ละเอียดว่าก่อนไมเกรนคุณทำอะไรบ้าง ถ้ารู้สาเหตุจะได้หลีกเลี่ยง ถ้าไม่ทราบสาเหตุก็ควรฝึกวิธีผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ หายใจเข้าลึกๆ ออกยาวๆ ให้สามีช่วยนวดให้ และควรระวังอย่าให้หิว อย่าให้เหนื่อยจนเกินไป ถ้ามีเวลางีบตอนกลางวันจะเป็นการดีมาก เวลาปวดศีรษะ ให้พยายามนอนในห้องเงียบๆ มืดๆ อาการจะดีขึ้น แต่ถ้าปวดศีรษะมากผิดปกติก็ต้องพบแพทย์ เพราะโรคบางอย่าง เช่น ครรภ์เป็นพิษ คนไข้จะมีความดันโลหิตสูงทำให้ปวดศีรษะได้
ส่วนโรคกระเพาะก็เป็นโรคที่พบบ่อย สิ่งที่กระตุ้นให้อาการกระเพาะกำเริบ ได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด มีปัญหาด้านการเงิน ฯลฯ อาการของโรคกระเพาะ ได้แก่ มีท้องอืด ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ คลื่นไส้ อาเจียน แสบหน้าอก สำหรับยาที่ใช้รักษาโรคกระเพาะในคนตั้งครรภ์มีหลายตัว แต่น่าจะปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อรับประทานเองค่ะ

ดูแลลูกคลอดก่อนกำหนดอย่างไรดี

Q สวัสดีค่ะคุณหมอลำดวน ดิฉันคลอดลูกตอน 7 เดือนกว่าๆ ค่ะ น้ำหนักของน้อง 1.8 กิโลกรัม ช่วงแรกกิต้องอยู่ในตู้อบ ปัจจุบันกลับมาอยู่ที่บ้านได้แล้วค่ะ คุณหมอบอกว่าปอดของน้องไม่ค่อยแข็งแรง อยากทราบว่าดิฉันจะต้องดูแลน้องอย่างไร มีเรื่องอะไรต้องคอยระวังเป็นพิเศษบ้าง และเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะมีพัฒนาการต่างจากเด็กที่คลอดปกติอย่างไรบ้าง ขอบคุณคุณหมอล่วงหน้าค่ะ / ธัญญาพร จ.ประจวบคีรีขันธ์

A เด็กคลอดก่อนกำหนด คือ เด็กที่คลอดก่อนเวลาที่กำหนด 3 อาทิตย์ขึ้นไป ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมาก ปัญหาของเด็กก็จะมากขึ้น เพราะอวัยวะต่างๆ ของเด็กยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ตอนแรกที่ลูกของคุณธัญญาพรต้องอยู่ตู้อบ เพราะเด็กยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิตัวเองได้ จึงต้องอยู่ในตู้ที่ตั้งอุณหภูมิให้พอดีกับเด็ก นอกจากนี้ยังอาจต้องป้อนอาหารทางสายยางเล็กๆ ที่ใส่เข้าไปในกระเพาะเนื่องจากเด็กยังดูดนมไม่ได้ หมอจะให้เด็กกลับบ้านต่อเมื่อเด็กมีน้ำหนักดีพอ สามารถหายใจ ดูดนม และกลืนนมได้ดี
หมอไม่ทราบว่าช่วงอยู่โรงพยาบาลลูกต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ ถ้าไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือออกซิเจน แสดงว่าเด็กไม่มีปัญหาด้านการหายใจ เด็กที่คลอดก่อนกำหนดบางคนปอดยังทำงานไม่ดี หมอต้องใช้เครื่องช่วยจนปอดดีขึ้นจึงถอดเครื่องได้
การที่หมอให้ลูกกลับบ้านได้ ก็แสดงว่าเด็กแข็งแรงระดับที่พ่อแม่จะดูแลได้เอง แต่เด็กคลอดก่อนกำหนดจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าเด็กที่คลอดครบกำหนด จึงควรแยกคนที่ป่วยไม่ให้เข้าใกล้เด็ก เวลาจะจับตัวเด็กก็ต้องล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด ควรไปพบแพทย์ตามนัด และควรฉีดวัคซีนทุกอย่างให้ครบถ้วน และที่สำคัญ คุณควรให้นมแม่แก่ลูกเพราะในนมแม่มีภูมิคุ้มกันที่จะป้องกันโรคได้ดี (ความจริง ควรปั๊มนมให้ลูกตั้งแต่ตอนอยู่รพ. ถ้าลูกได้อาหารทางสายยาง)
ท่านอนของลูก ก็ไม่ควรให้นอนคว่ำ เพราะเด็กคลอดก่อนกำหนด จะมีความเสี่ยงต่อโรค SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) คือโรคที่เด็กหยุดหายใจและเสียชีวิต มักจะเกิดกับเด็กที่นอนคว่ำ สำหรับเรื่องการพัฒนาการให้ดูว่าเด็กอายุ (ตามวันเกิด) กี่เดือน ลบด้วยจำนวนอาทิตย์หรือ จำนวนเดือนที่เด็กคลอดก่อนกำหนด เช่น เด็กอายุ 12 เดือน (นับจากวันเกิด) แต่คลอดก่อนกำหนด 1 เดือน เด็กก็ควรจะมีพัฒนาเท่ากับเด็กคลอดครบกำหนดที่มีอายุ 11 เดือน
การดูแลเด็กคลอดก่อนกำหนดช่วงแรกอยากจะยาก แต่ก็อย่ากังวลจนเกินไป ถ้าสังเกตเห็นว่าเด็กผิดปกติ เช่น ไม่ดูดนม หายใจติดขัด ฯลฯ ก็ควรรีบพาไปหาหมอ

L.D. เด็กฉลาดแต่อ่านหนังสือไม่ได้

Q  อยากรบกวนถามคุณหมอและทีมงาน M&C แม่และเด็กค่ะ คือว่าดิฉันเป็นคุณย่าของหลานสาวอายุ 6 ขวบค่ะ ซี่งดูๆ แล้วแกก็ฉลาด ช่างพูด ช่างสังเกต แต่กลับมีปัญหาเรื่องการเรียนค่ะ คือเค้าจะเขียนและอ่านไม่ได้ จนคุณครูบอกว่าควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจเกิดจากความผิดปกติบางอย่าง เช่น  L.D. ซึ่งดิฉันไม่ค่อยเข้าใจค่ะ อยากให้คุณหมอและทีมงาน M&C แม่และเด็กช่วยอธิบายหรือให้ข้อมูลกับดิฉันซักหน่อยค่ะว่าควรทำอย่างไรดี / คุณย่าห่วงหลาน กรุงเทพฯ

A หลานของคุณย่าถูกคุณครูสงสัยว่าเป็น L.D. ซึ่งย่อมาจากคำว่า Learning Disability คือมีความผิดปกติในด้านการเรียน ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทชนิดหนึ่ง เด็กกลุ่มนี้จะฉลาด เก่ง แต่มีความยากลำบากในการอ่าน เขียน สะกดคำ ฯลฯ โรคนี้ไม่หายขาด แต่ถ้าได้รับการสอนด้วยวิธีพิเศษ เด็กจะพัฒนาการจนสามารถอ่าน เขียน และทำงานได้
พ่อแม่ของเด็กที่เป็น L.D. จะต้องคอยให้กำลังใจเด็ก ต้องเข้าใจการเรียนแบบพิเศษที่เด็กจะต้องได้รับ และต้องให้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาเด็ก
80% ของเด็กที่เป็น L.D. จะมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านหนังสือและการใช้ภาษา อาจพูดช้า ออกเสียงไม่ถูกต้อง จำศัพท์ไม่ได้ เขียนเลขไม่ได้ เรียนสีไม่ได้ เรียนรูปลักษณะ เช่น กลม เหลี่ยมไม่ได้
เด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อน นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อก้องโลกหลายท่านก็เป็นโรคนี้ ทางที่ดีคุณย่า ควรพาหลานไปหากุมารแพทย์ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ถ้าเป็นจริงจะได้รีบรักษา ซึ่งถ้ารักษายิ่งเร็วยิ่งได้ผลดี

ความเห็น (1)Add Comment
0
Supanida Kongsin
April 03, 2021
1.47.233.242
Votes: +0
...

สวัสดีคะคุณหมอ รบกวนปรึกษาเรื่องล

เขียนแสดงความเห็น
 
  smaller | bigger
 

busy
 
< Prev   Next >
นิตยสาร M&C แม่และเด็ก ฉบับที่ 558 มีนาคม - เมษายน 2564