หมวดหมู่บทความ พบคุณหมอเด็ก จิตวิทยาลูกรัก

Search by tag : คลินิคคุณแม่, จิตวิทยาลูกรัก, กฎ 3 ข้อในการควบคุมลูกให้ได้ผล, พบคุณหมอเด็ก, ทำไมลูกชอบตื่นร้องกลางดึก


ช่วยลูกสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง PDF Print E-mail
Written by Administrator   
Monday, 20 November 2017
“คำชมและการให้รางวัลอย่างเหมาะสมสำคัญมากครับ เพราะนอกจากจะทำให้ลูกมีพฤติกรรมดีต่อเนื่องแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้ลูก”

การที่คนเราสามารถมองเห็นตัวเองมีภาพลักษณ์ที่ดีนั้น ย่อมทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองตามมา พัฒนาการของการมองตัวเองโดยมีภาพลักษณ์ที่ดีหรือการมีมุมมองที่ดีกับตัวเอง เป็นองค์ประกอบสำคัญของความสุขของเด็กและวัยรุ่น นอกจากนี้ความภาคภูมิใจในตนเองยังเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จในชีวิตคนเราอีกด้วย
ฉบับนี้เราจะพูดคุยกันถึงพื้นฐานของการพัฒนาความความภาคภูมิใจในตนเองของเด็กและวัยรุ่นกันครับ88.1.jpg
ลักษณะของคนที่ภาคภูมิใจในตนเอง

ความภาคภูมิใจในตนเอง เป็นความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเอง รวมไปถึงพฤติกรรมอันเนื่องมาจากความรู้สึกนั้น เด็กหรือวัยรุ่นซึ่งมีความภาคภูมิใจในตนเอง จะมีลักษณะดังต่อไปนี้

-    เป็นตัวของตัวเอง ไม่พึ่งพาผู้อื่น
-    มีความรับผิดชอบ
-    ภูมิใจในความสำเร็จของตัวเอง
-    อดทนต่อความกดดันได้ดี
-    รู้จักค้นหาหนทางแก้ปัญหาและท้าทายตัวเอง
-    ควบคุมอารมณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบของตนเองได้ดี
-    ชอบช่วยเหลือผู้อื่น

ลักษณะของคนที่ไม่ค่อยมีภาคภูมิใจในตนเอง

ในทางตรงกันข้ามกับเด็กซึ่งไม่ค่อยมีความภาคภูมิใจในตนเอง จะมีลักษณะดังต่อไปนี้
-    หลีกเลี่ยงการลองทำสิ่งใหม่ๆ
-    รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่รักหรือผู้อื่นไม่ต้องการ
-    โทษคนอื่น ทั้งๆ ที่เกิดจากความบกพร่องของตัวเอง
-    ไม่ใส่ใจต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น
-     ไม่มีความอดทนต่อความกดดัน
-    ไม่ยอมรับความสามารถหรือศักยภาพของตัวเอง
-    ถูกชักจูงได้ง่าย ไม่เป็นตัวของตัวเอง

พ่อแม่มีบทบาทสำคัญ

    คุณพ่อคุณแม่เป็นบุคคลที่สามารถสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้ลูกได้มากกว่าบุคคลอื่นๆ แท้ที่จริงแล้ว มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะชมลูก หากมันเป็นความจริง คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักพูดชมออกไป โดยไม่รู้ตัวว่า คำพูดหรือการกระทำนั้นมีผลต่อเด็กหรือวัยรุ่นเพียงใด
ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกดีกับลูก จงพูดชมออกมา บางครั้งพ่อแม่อาจจะแสดงอารมณ์ด้านลบไปยังเด็ก และละเลยที่จะบอกความรู้สึกดีๆ ให้เด็กรับรู้ เด็กมักไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่พ่อแม่รู้สึกดีๆ กับเขา หรือรู้สึกอย่างไรที่มีเขาอยู่ในครอบครัว หรือความเชื่อเดิมที่ว่า "ชมมาก เดี๋ยวเหลิง" อาจทำให้พ่อแม่ไทยส่วนหนึ่งไม่อยากชมลูก หรือชมอยู่ในใจ ไม่พูด ไม่แสดงออกมา
 ในแง่จิตวิทยาเด็กแล้ว คำชมและการให้รางวัลอย่างเหมาะสมสำคัญมากครับ เพราะนอกจากจะทำให้ลูกมีพฤติกรรมดีต่อเนื่องแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้ลูก รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและมั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วย เด็กๆ มักจดจำคำพูดดีๆ ที่เราพูดถึงเขา เขาจะจดจำข้อความนั้นเอาไว้ แล้วบอกกับตัวเองต่อๆ ไป คุณพ่อคุณแม่จึงควรพูดให้กำลังใจลูกทุกวันครับ

ชมลงไปที่รายละเอียดด้วย

การที่เราต้องชมรายละเอียดของพฤติกรรมที่ลูกทำหรือสิ่งดีๆ ที่ลูกมี ก็เพื่อให้เขารู้ว่า เขามีอะไรดีบ้าง คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกตัวเองให้เป็นนิสัยในการมองหากิจกรรมที่ลูกทำได้ดีหรือได้แสดงอัจฉริยภาพออกมา เช่น เมื่อลูกจัดห้องเสร็จ คุณพ่อคุณแม่ควรพูดว่า "พ่อแม่ชอบมากที่ลูกจัดห้องได้เรียบร้อยและวางของไว้เป็นที่" หรือเมื่อคุณพ่อคุณแม่มองเห็นพรสวรรค์บางอย่างของลูก อาจพูดว่า "เพลงที่ลูกเล่นยอดเยี่ยมมาก ลูกมีพรสวรรค์ทางดนตรี"
อย่ากลัวที่จะชมเชยลูกต่อหน้าคนอื่นในครอบครัวหรือชมให้เพื่อนๆ รับรู้ ใช้คำชมเพื่อระบุถึงพฤติกรรมดี เช่น"ลูกเป็นคนมีน้ำใจ ดีมาก" "พ่อแม่ภูมิใจที่ลูกมีความพยายามตั้งใจทำ แม้ว่ามักจะยาก"
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดชมได้ แม้ว่าลูกยังไม่ได้ทำอะไรเลย ตัวอย่างเช่น "แม่ดีใจมากที่ลูกไม่โกรธ ทั้งๆ ที่แม่บอกว่า "ไม่" ลูกก็ยังสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีมาก"
88.2.jpg
การพูดเตือนตนเองในใจ

สอนให้ลูกฝึกใช้คำพูดด้านดีกับตัวเอง การพูดเตือนตนเองในใจ (Self-talk) มีความสำคัญสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง นักจิตวิทยาพบว่า คำพูดกับตนเองด้านลบในใจ เป็นเบื้องหลังของอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล สิ่งที่เราคิดจะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เรารู้สึกและสิ่งที่เรารู้สึกจะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เราจะทำต่อไป ดังนั้น จึงมีความสำคัญมากในการสอนให้เด็กคิดบวกหรือคิดในด้านดีด้วยการพูดเตือนในใจกับตัวเอง ตัวอย่างเช่น "ฉันจัดการกับปัญหานี้ได้" "ถึงแม้วันนี้ทีมเราจะแพ้ แต่เราจะพยายามต่อไป วันหนึ่งต้องเป็นวันชนะของเราบ้าง" "ฉันรู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น แม้ว่าจะไม่มีใครเห็นหรือขอบคุณ"

หลีกเลี่ยงการตำหนิ


ไม่น่าเชื่อนะครับ ว่าเหตุการณ์ในวัยเด็กซึ่งถูกตำหนิ โดยเฉพาะวัยที่มีความอ่อนไหวมาก เช่น วัยอนุบาลนั้น อาจส่งผลกระทบเป็นบาดแผลลึกในใจ ทำให้เด็กคนนั้นสูญเสียความมั่นใจไปจนโตเลย ก็เป็นไปได้ เหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นที่บ้านหรือที่โรงเรียนก็ได้ คุณพ่อคุณแม่และคุณครูจึงพึงระมัดระวัง ไม่ให้เกิดสถานการณ์ซึ่งจะทำให้เด็กถูกตำหนิหรืออับอายต่อหน้าบุคคลอื่น นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการตำหนิในลักษณะซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองถูกเยาะเย้ยหรือน่าขบขันอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง บางครั้งบางคราวพ่อแม่ก็ต้องมีการตำหนิพฤติกรรมของลูกบ้าง หากแต่การตำหนิโดยตรงไปที่ตัวลูก อาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอับอายได้มากกว่า ดังนั้น เมื่อต้องมีการตำหนิ คุณพ่อคุณแม่ควรใช้คำพูดแบบ "ฉัน" มากกว่า "เธอ" ตัวอย่างเช่น "แม่อยากให้ลูกแขวนเสื้อผ้าไว้บนตะขอที่ผนังหรือพับเก็บเข้าลิ้นชัก มากกว่าวางทิ้งไว้บนพื้นห้องแบบนี้” ซึ่งดีกว่าพูดว่า "ลูกนี่ขี้เกียจจริงๆ ทำไมไม่รู้จักเก็บเสื้อผ้าของตัวเองบ้าง"
เวลาเตือนไม่ควรให้เกิดความอับอายหรือทำเป็นการประจาน ควรเปิดโอกาสให้เด็กค่อยๆ คิด และยอมรับข้อผิดพลาดด้วยตัวเอง
เรามาช่วยกันเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้ลูกหลานของเรากันเถิดครับ

ขอขอบคุณ ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ  

นพ.กมล แสงทองศรีกมล
กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ความเห็น (0)Add Comment
เขียนแสดงความเห็น
 
  smaller | bigger
 

busy
 
< Prev   Next >
นิตยสาร M&C แม่และเด็ก ฉบับที่ 558 มีนาคม - เมษายน 2564