Written by Admin
|
Thursday, 24 October 2019 |
ในวัยที่ลูกควรได้รับประทานอาหาร
3 มื้อเป็นอาหารหลักแทนนม เจ้าตัวเล็กหลายคนกลับไม่ยอมกิน ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น
พฤติกรรมเช่นนี้อาจส่งผลให้ร่างกายของลูกรับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ
และอาจต่อเนื่องไปถึงอนาคต เพราะนิสัยหลายๆ อย่าง ถ้าไม่รู้จักหัดให้ดีแล้ว
โตขึ้นเขาจะนำติดตัวไปด้วย ถึงเวลานั้นก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง รวมถึงนิสัยการกินด้วย
รสชาติ-หน้าตาของอาหาร
อย่าเพิ่งน้อยใจหากอาหารที่คุณแม่ตั้งใจปรุงและตกแต่งอย่างสวยงามไม่สามารถเพิ่มความอยากอาหารให้ลูกน้อยวัยซนได้
โดยเฉพาะกับลูกวัย 1-6
ปี ที่จะให้กินอาหารแต่ละมื้อนั้นยากเย็นเหลือเกิน เพราะความจริงแล้วสาเหตุการไม่ยอมกินอาหารของเด็กวัยนี้
ไม่เกี่ยวกับรสชาติหรือหน้าตาของอาหารสักเท่าไหร่ แต่เป็นเพราะเขามีเรื่องอื่นที่อยากทำมากกว่าการนั่งลงรับประทานอาหารตั้งเยอะ หรือจะเรียกง่ายๆ
ว่าห่วงเล่นนั่นล่ะค่ะ
เรื่องกิน...ต่างวัยต่างความชอบ
หากจะเป็นคุณแม่ที่รู้ใจเรื่องการกินของลูก
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ระดับความอยากอาหาร ความชอบ
และวิธีการรับประทานอาหารของเด็กแต่ละวัยนั้นแตกต่างกัน เช่น
- เด็กอายุ
1 ขวบครึ่งถึง 4 ขวบ
จะกินช้ามากเพราะห่วงเล่น ชอบให้หลอกล่อ ชอบให้แม่ชมเวลากิน
- เด็ก
5 ขวบ ไม่ชอบอาหารที่เป็นก้อน หรือเป็นแท่ง
ชอบพูดขณะกินอาหาร และยังอยากให้คุณแม่ป้อนอยู่ถึงแม้จะตักอาหารเองได้แล้วก็ตาม
- เด็ก
6 ขวบ ชอบตักอาหารเข้าปากคำโตๆ กินหกเลอะเทอะ
และมักจะคายออกทันทีถ้าไม่ถูกใจ
- มื้อเย็นลูกมักอยากอาหารและรับประทานอาหารได้มากกว่ามื้อเช้า
- ความเร็วในการรับประทานอาหารสัมพันธ์กับความสามารถในการเคลื่อนไหวของเด็ก เด็กที่คล่องแคล่วกระฉับกระเฉงมักจะรับประทานอาหารไว
สร้างแรงจูงใจในการกิน
เมื่อรู้ใจลูกแต่ละวัยแล้วก็มาถึงการสร้างแรงจูงใจ
ให้เด็กๆ เกิดความอยากรับประทานอาหาร ซึ่งได้แก่
- เตรียมอาหารหลายๆ
ชนิด ให้ลูกได้เลือก
-
ไม่ตักอาหารให้ลูกมากเกินไป จนลูกรู้สึกว่ากินไม่หมดแน่ๆ
- อย่ายอมให้ลูกกินนมหรือขนมแทนข้าว
ถ้าเขาไม่ยอมกินอาหารมื้อหลัก
- ให้ลูกได้นั่งโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่และรับประทานอาหารแบบเดียวกับผู้ใหญ่
เขาจะเกิดความรู้สึกว่า เขาโตแล้ว และภาคภูมิใจกับการได้ตักอาหารรับประทานเอง
- ปิดทีวี คอมพิวเตอร์ งดใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างรับประทานอาหาร
เพื่อให้ลูกมีสมาธิในการกินมากขึ้น
- หากเขายังมัวโยกโย้ไม่ยอมรับประทานเมื่อทุกคนอิ่มแล้วให้เก็บอาหาร
หรือกำหนดเวลามื้ออาหารลูกแต่ละมื้อไว้ไม่เกินมื้อละ 30
นาที
เรื่องความหลากหลายของอาหารนั้น
หากจะให้ได้ประโยชน์ และคุณค่าทางอาหารเต็มที่ควรเน้นทั้งเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้
เด็กบางคนไม่ชอบทานเนื้อสัตว์ เพราะเหนียว เคี้ยวยาก ควรบดหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
ให้รับประทานง่ายขึ้น การเลือกผักที่มีสีสันสดใส
อย่างแครอท ฟักทอง มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว จะช่วยให้เด็กอยากลองรับประทานมากขึ้น
แต่ถ้ายังไม่ได้ผล ลองนำผักไปชุบแป้งทอด หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
แล้วนำไปผสมในอาหารที่ลูกชอบ ส่วนผลไม้นั้น
อาจเริ่มจากเลือกผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยรับประทานง่าย หรือให้ลูกได้ช่วยทำน้ำผลไม้ง่ายๆ
อย่างคั้นน้ำส้ม ก็ได้อร่อยแบบมีประโยชน์และความสนุกจากการได้ลงมือคั้นน้ำผลไม้เอง
แสดงแบบ : ด.ญ.มัชฌิมา สุขราชกิจ
|
Last Updated ( Monday, 21 October 2019 )
|