หมวดหมู่บทความ เทิร์นโปรคุณแม่มือใหม่ New mom 4

Search by tag : เทิร์นโปรคุณแม่มือใหม่, New mom 4, คลอดธรรมชาติ...ธรรมชาติของการคลอด


เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้ลูก PDF Print E-mail
Written by Admin   
Monday, 13 July 2020
“ระบบการศึกษาที่ดีมีความสำคัญอย่างมากในการเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์”

ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการนั้นนอกจากจะจำเป็นสำหรับการเรียนรู้และการศึกษาแล้วยังจำเป็นสำหรับการทำงาน การทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างนวัตกรรมอีกด้วยครับ

ความคิดสร้างสรรค์กับการสร้างนวัตกรรม
หลอดไฟของโทมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่จะหาวิธีการให้แสงสว่าง เอดิสันได้ทดลองใช้วัสดุต่างๆ มาทำเป็นไส้หลอดตามจินตนาการของเขา ไว้เว้นแม้แต่เส้นผมของเขาเองจนประสบความสำเร็จในที่สุด
กระดาษกาวโพสอิท (Post-id) ก็เริ่มต้นจากการคิดค้นกาวชนิดใหม่ที่ติดไม่แน่น จึงดูเหมือนคุณภาพไม่ดี แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์จึงนำมันมาใช้กับกระดาษเพื่อติดตามวัสดุต่างๆ ชั่วคราว และดึงออกได้ง่าย
โซนี วอล์คแมน (sony walkman) ก็เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ในการลองเอาเครื่องบันทึกเสียง มาใช้ฟังเพลง
นอกจากนี้ยังมีความคิดสร้างสรรค์ในเชิงธุรกิจ เช่น ข้าวกระป๋องส่งออก เกิดขึ้นเพราะนักธุรกิจคนหนึ่งดูข่าวน้ำท่วมพายุเกย์ สังเกตเห็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่อยู่บนหลังคา โดยการโยนถุงข้าวสารลงไป เขาใช้จินตนาการคิดต่อว่าแล้วจะชาวบ้านจะกินอย่างไร เขาจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร จนเกิดเป็นข้าวสวยบรรจุกระป๋องพร้อมกิน นำไปผลิตเพื่อส่งออกได้
เห็นแล้วใช่ไหมครับ ว่าความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการมีความสำคัญต่อเรามากเพียงใด
การเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในเด็กโตหรือผู้ใหญ่นั้นจะเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้อย่างมีความสุข การตั้งคำถาม (inquiry) และสมมุติฐาน (hypothesis) การค้นคว้าทดลอง (experimental) การแก้ปัญหา (problem-solving)

กระตุ้นลูกให้ลูกคิดด้วยคำถามที่น่าสนใจ
นอกจากการฝึกให้ลูกช่างคิด ช่างถามและพยายามตอบคำถามทุกคำถามของลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถตั้งคำถามให้ลูกเกิดความอยากรู้อยากเห็น และอยากค้นคว้าเพิ่มเติมได้ ตัวอย่างคำถาม เช่น "ปลาโลมา ปลาวาฬ นอนหลับอย่างไร" คุณพ่อคุณแม่อาจให้ข้อมูลขั้นต้นว่า ปลาโลมา ปลาวาฬ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนเรา เหมือนสุนัข เหมือนแมว ย่อมต้องหายใจ โดยการสูดอากาศเข้าปอด ปลาโลมา ปลาวาฬ อยู่ในน้ำทะเล ในมหาสมุทร ก็ต้องโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำเพื่อหายใจเป็นระยะๆ แล้วมันจะนอนหลับอย่างไรกันนะ เพราะเวลาเราหลับสนิท ย่อมไม่รู้สึกตัว มันนอนหลับอยู่ในน้ำ ไม่สำลักน้ำเข้าปอด ตายหรอกหรือ เป็นการกระตุ้นให้ลูกอยากรู้อยากเห็น

ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับ ว่าถ้าเราลองให้ลูกค้นหาข้อมูลนี้ในอินเตอร์เน็ต เช่น Google ไม่ว่าจะพิมพ์ข้อความเป็นภาษาไทย หรืออังกฤษ จะมีแหล่งข้อมูล และคำตอบนี้มากมายมหาศาล เลือกเข้าไปอ่านและพูดคุยกับลูกได้ ลองใช้วิธีการตั้งคำถามให้ลูกอยากรู้อยากเห็นแบบนี้หรือลองสลับให้ลูกตั้งคำถามที่น่าสนใจเองบ้าง ก็จะเป็นการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดความรู้ได้เป็นอย่างดีครับ
ฝึกเชื่อมโยงข้อมูล

ตัวอย่างเช่น ใช้การวาดรูปช่วยสร้างจินตนาการในการคำนวณโจทย์คณิตศาสตร์ ตัวอย่างโจทย์ "รถคันหนึ่งบรรทุกฝรั่ง 8 เข่ง หนักเข่งละ 36 กิโลกรัม และบรรทุกแตงโม อีก 1 เข่งหนัก 225 กิโลกรัม รถคันนี้บรรทุกผลไม้ทั้งหมดกี่กิโลกรัม" ก็ให้ลูกลองวาดภาพตามโจทย์ เป็นรูปรถบรรทุก อาจวาดรูปเข่งเป็นรูปสี่เหลี่ยม 8 รูป เขียนน้ำหนักเป็นตัวเลข 36 ไว้บนแต่ละรูป และวาดรูปสี่เหลี่ยมใหญ่ๆ อีก 1 รูป แทนเข่งแตงโม เขียนตัวเลข 225 ไว้ ก็จะช่วยให้ลูกเห็นภาพตามจินตนาการ และคิดคำนวณได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการฝึกวาดภาพ ได้ความสนุกสนานอีกด้วยครับ

กระตุ้นด้วยอารมณ์ขัน
อารมณ์ขันก็เป็นความคิดสร้างสรรค์ประเภทหนึ่ง การที่คุณพ่อคุณแม่มีอารมณ์ขันหรือลองฝึกให้ลูกเล่าเรื่องตลกแต่งนิทาน หรือวาดการ์ตูนตลกๆ ก็ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้อีกทางหนึ่งครับ

ชวนลูกทดลองแก้ไขปัญหา
เมื่อลูกเรียนเรื่องปริมาตรที่โรงเรียนมาแล้ว ลองหาภาชนะในบ้านมาใบหนึ่ง จะเป็น ถ้วย ชาม แจกัน หรือขวดน้ำอัดลมก็ได้ ลองชวนลูกทดลองว่าภาชนะนี้มีปริมาตรเท่าไรกัน โดยใช้ไซริงค์ (หลอดฉีดยา) หรือถ้วยตวงขนาด 3 หรือ 5 ซีซี เพื่อตวงน้ำใส่ลงในภาชนะนั้น นอกจากจะเข้าใจเรื่องปริมาตรดีขึ้นจากการลงมือปฏิบัติแล้ว เด็กยังจะได้เรียนรู้เรื่องหลักการคูณอีกด้วย

ความอยากรู้อยากเห็น
ระบบการศึกษาที่ดีมีความสำคัญอย่างมากในการเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ระบบการศึกษาที่ดีควรกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความอยากที่จะเรียนรู้เอง (Stimulating Curiosity) ใช้การตั้งคำถาม (Inquiry) เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ โดยครูและนักเรียนจะร่วมกันตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น อยากที่จะเรียนรู้ นำไปสู่การค้นคว้าและสนุกกับการค้นหาคำตอบด้วยตนเอง กระตุ้นให้ผู้เรียนค้นหาวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง และมีความสุขในการเรียนรู้
นอกจากนี้ควรเน้นที่การพัฒนาองค์รวมของเด็กทั้งในห้องเรียนและในโลกกว้าง ส่งเสริมให้เด็กมีลักษณะ เป็นนักค้นคว้า (Inquirers) ใช้ความอยากรู้อยากเห็นเพื่อค้นคว้าวิจัย เรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learners) ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เป็นนักคิด (Thinkers) มีศักยภาพในการใช้ความคิดและกล้าตัดสินใจอย่างสร้างสรรค์ รู้จักแก้ปัญหา กล้าเสี่ยง (Risk-Takers) มีความมั่นใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
กระบวนการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างจินตนาการและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ตลอดวัยเรียนของลูกหลาน แต่น่าเสียดายนะครับที่การศึกษาไทยส่วนใหญ่ขณะนี้กลับเน้นเนื้อหาวิชาการ เน้นการท่องจำ ไม่ค่อยได้คิดเอง เน้นการสอบแข่งขัน เด็กหลายคนจึงถูกเร่งเรียนเกินระดับ ต้องเรียนพิเศษกวดวิชามากๆ จึงไม่ค่อยได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและได้ใช้จินตนาการมากนัก
เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ยังมีรายละเอียดอีกมาก คงต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของคุณพ่อคุณแม่เองในการหาวิธีเสริมสร้าง ตลอดจนช่วยกันพัฒนากระบวนการเรียนรู้ และระบบการศึกษา ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ

ความเห็น (0)Add Comment
เขียนแสดงความเห็น
 
  smaller | bigger
 

busy
Last Updated ( Monday, 13 July 2020 )
 
< Prev   Next >
นิตยสาร M&C แม่และเด็ก ฉบับที่ 558 มีนาคม - เมษายน 2564