Written by Admin
|
Wednesday, 20 January 2021 |
เติบโตแข็งแรงช่วงวัย 4-6 เดือน เราได้ชวนคุณแม่ ทำความเข้าใจภาษากายของทารกกันไปแล้ว ขอชวนคุณพ่อคุณแม่มาคุยกับเจ้าตัวเล็กกันค่ะ เพราะความจริงแล้ว ทารกสามารถเรียนรู้ภาษาได้ตั้งแต่แรกเกิด
เรียนรู้ความหมายของคำ
ก่อนที่จะออกเสียงพูดเป็นคำ เด็กทุกคนจะค่อยๆ เรียนรู้ และเข้าใจในสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดกับเขาได้ แม้ในวัยเพียง 4 เดือน เขาก็เข้าใจความหมายของคำบางคำที่คุณแม่พูดแล้วล่ะค่ะ
เช่น ถ้าคุณแม่พูดคำว่ากลมๆ ขณะเล่นลูกบอลกับลูกบ่อยๆ เมื่อถึงวัยที่เขาเริ่มพูดอ้อแอ้ได้ เวลาเขาอยากจะเล่นลูกบอล เขาอาจพยายามบอกคุณว่า กลมๆ แม้จะยังออกเสียงเป็น อมๆ หรือ จมๆ แต่นั่นก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีของการพูด
หนูอยากคุยกับแม่นะ
คุณแม่สามารถพูดคุยกับลูกได้โดยไม่ต้องห่วงว่าลูกยังไม่ถึงวัยหัดพูด หรือกลัวว่าเขาจะไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพูด เพราะทารกสามารถจดจำเสียงของคุณแม่ได้ตั้งแต่เขายังอยู่ในท้องแล้ว เสียงของคุณแม่จึงเป็นเสียงแห่งความคุ้นเคยที่สร้างความสบายใจให้ลูกได้เป็นอย่างดี การพูดคุยกับลูก แม้เขาจะยังไม่สามารถเข้าใจ หรือโต้ตอบได้ด้วยคำพูด แต่เชื่อเถอะว่า เขาจะมีความสุขทุกๆ ครั้งที่คุณเริ่มคุยกับเขา
และนอกจากเสียงคุณแม่แล้ว เสียงอีกเสียงที่เขาชอบที่สุดก็คือ เสียงของตัวเขาเอง เขาจะมีความสุขกับการพูดอืออออ้อแอ้ เพื่อคุยโต้ตอบกับคุณแม่ ดังนั้น คุณแม่จึงควรใช้เวลาในการพูดคุยกับเขาให้บ่อยที่สุด
ต่อมาเขาจะรู้ว่าหากต้องการสิ่งใดเขาควรใช้ท่าทางและน้ำเสียงสื่อให้คุณแม่รับรู้ เช่น จ้องมองของที่อยากได้ แล้วส่งเสียงอืออา ถ้าคุณแม่อ่านสัญญาณที่เขาพยายามสื่อได้ถูก ว่าเขาอยากได้ของนั้นเขาก็จะดีใจมาก
เสียงของคนแปลกหน้า
ถึงเจ้าหนูจะส่งยิ้มให้แทบทุกคนที่ได้พบ แต่อย่าคิดว่านั่นเป็นเพราะเขายังไม่รู้ว่าใครคือคนแปลกหน้าเชียวค่ะ ทารกวัย 4 เดือนจะจำแนกคนรู้จักโดยอาศัยสัมผัส เสียง และการเคลื่อนไหวมากกว่ารูปร่างหน้าตา สำหรับคนแปลกหน้า หากเข้ามาพูดคุยเล่นกับเขาในตอนที่เขาอารมณ์ดี เขาจะยิ้มรับอย่างเป็นมิตร แต่ถ้าสังเกตดีๆ ยิ้มนั้นจะไม่กว้างเท่าที่เขายิ้มให้คุณพ่อคุณแม่หรอกค่ะ
เวลาอุ้มเด็กให้นั่งตักก็เช่นกัน ถ้าคุณแม่หรือคุณพ่อเป็นคนอุ้ม เขาจะพยายามหันหน้าเข้าหาแล้วมองอย่างพินิจพิเคราะห์เป็นเวลานาน เขาจะสังเกตทั้งใบหน้า ผม เสื้อผ้าของคุณ พ่อคุณแม่จับโน่นเล่นนี้อยู่นาน ขณะที่เวลาเขาอยู่บนตักคนไม่คุ้นเคย เขาจะขืนตัวหันหน้าออกไปด้านนอก นั่งนิ่ง ไม่ค่อยเคลื่อนไหว หรือไม่ก็พยายามโผกลับเข้าหาคุณแม่
คำพูดเฉพาะตัวของลูก
เมื่อคุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกบ่อยๆ พอเขาอายุ 9 เดือน ก็อาจเรียกพ่อ แม่ และพูดคำง่ายๆ ได้ แต่เขายังไม่เข้าใจความหมายของคำเหล่านั้นเท่าไหร่ การส่งเสียงเรียกหรือการพูดของเด็กวัยนี้จึงเป็นไปในทางเรียกร้องความสนใจ หรือตั้งใจจะโชว์ความสามารถ และสนุกกับการเห็นผู้ใหญ่ตื่นเต้นดีใจมากกว่า จนอายุ 10-12 เดือน เด็กๆ ถึงจะรู้อย่างจริงๆ จังๆ ว่า คำต่างๆ ที่เขาพูดออกมานั้นคืออะไรและเริ่มพูดอย่างรู้ความหมายได้
ในระยะนี้เด็กอาจจะสร้างคำพูดของเขาเองขึ้นมาสักคำหนึ่ง ซึ่งเขารู้ความหมายของเขาเอง และจะใช้คำนี้กับทุกสิ่ง ไม่ว่าเวลาหิว ต้องการความสนใจ หรือใช้เรียกของเล่น คุณแม่ลองสังเกตดูนะคะ ว่าเขามีคำไหนที่ชอบพูดบ่อยๆ นั่นล่ะค่ะ โค้ดลับของเขาล่ะ
แสดงแบบ : ด.ญ.ขวัญฤทัย บุญประสิทธิ์
|