เกมต่อสู้…สื่อก่ออาชญากรรมจริงหรือ?? |
|
|
|
Written by Administrator
|
Monday, 21 September 2009 |
มื่อวานแว่บไปร้านอินเตอร์เน็ตแถวบ้าน กะไปนั่งเช็คเมลล์ เจ๊อะเด็กตัวกะเปี๊ยก 2 คน คาดคะเนอายุใบหน้าคงไม่เกิน 6 ขวบ กำลังเล่นเกมต่อสู้ยิงกันเลือดสาดกันอย่างเมามัน ตกก๊ะใจเลยค่ะ...ด้วยความเป็นนางงามเก่า (ประมาณรักเด็กเหลือเกิน) เลยรีบแจ้นไปถามคุณเจ้าของร้านว่า
“เจ๊ขา...ปล่อยเด็กเล็กเล่นเกมประเภทนี้ได้อย่างไร”
“เกมนะน้อง เล่นคลายเครียด ถึงไม่เล่นร้านพี่ เด็กๆ ก็ไปเล่นร้านอื่นอยู่ดี” เจ๊หมวยเจ้าของร้านตอบกลับมาด้วยใบหน้านิ่งเฉยมาก
“แต่ก็ไม่เหมาะ ไม่ควรนะ เจ๊ขา” สาวสวยผู้รักเด็กเป็นชีวิตจิตใจถามต่ออย่างไม่ย่อท้อ
“ใช่ซี้ (กรุณาถามเสียงสูงตามไปด้วย) เอะอะ! ก็ว่า เกมไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นสื่อทำให้เด็กใช้ความรุนแรง ถามจริงเหอะ...ต้นตอปัญหาอยู่ที่เกมอย่างเดียวจริงหรือ” องค์เริ่มลงเจ๊หมวย แต่ก็ตอบแบบมีภูมิความรู้นัก ก่อนที่เจ๊หมวยจะของขึ้นไปกว่านี้ สาวสวยผู้รักเด็กเป็นชีวิตจิตใจแต่ก็กลัวของแถมด้วย...เลยขอจรลีจากร้านก่อนดีกว่า พลางใช้ความคิดตามไปด้วย
ซึ่งอาจจริงดั่งคำพูดที่เจ๊หมวยบอกกล่าวก็ได้ เพราะหลายต่อหลายครั้ง พวกเกมที่ใช้ความรุนแรงที่ดังๆ อย่าง Grand Theft Auto (GTA), Duke Nukem และ Bully ก็มักตกเป็นจำเลยตามสื่อบ่อยครั้งในฐานะอาจกระตุ้นให้เกิดอาชญากรรม รวมไปถึงบรรดาเกมออนไลน์ เช่น Raknarok ที่ทำให้เด็กวัยรุ่นติดกันงอมแงมทั่วบ้านทั่วเมืองจนเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นตามมา
ล่าสุด ผลงานการวิจัยของ วินซ์ แมธิวส์ (Vince Mathews) จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็ได้ตอกย้ำความเชื่อดังกล่าวอีกว่า เด็กที่เล่นเกมที่มีความรุนแรงต่อเนื่องกันนาน 30 นาที จะทำให้ความสามารถในการควบคุมตัวเองและการรับรู้หลักเหตุผลต่างๆ ด้อยลง แต่อีตาวินซ์เองก็ไม่ได้สรุปว่า หากเล่นเกมแล้วจะทำให้ผู้เล่นถึงกับควบคุมตัวเองไม่ได้
แต่หากจะบอกว่า เกมเป็นสิ่งที่ให้โทษและไร้คุณประโยชน์เลยก็อาจไม่ถูกต้องนัก ลองมาฟังงานวิจัยของ ศจ. มาร์ก กริฟฟิทธ์ส (Prof. Mark Griffiths)ที่เคยตีพิมพ์ในวารสารบริติชเมดิคัล ซึ่งศึกษาผลกระทบของเกมมากว่า 15 ปี เปิดเผยว่า เกมช่วยได้อย่างมากในการหันเหความสนใจของเด็กจากการรักษาอาการเจ็บป่วยที่ต่อเนื่อง เช่น การรักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจาง และเด็กที่เข้ารับการคีโมโดยความดันเลือด อาการเจ็บปวด และอาการคลื่นเหียนอาเจียนในเด็กที่เล่นเกมจะมีน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นเกม และเกมยังช่วยเสริมสมาธิและเพิ่มความสามารถในการเข้าสังคมให้แก่เด็กที่มีปัญหาด้านสมาธิสั้นได้ด้วย
ทั้งนี้ ศจ. กริฟฟิทธ์ส ก็ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “กรณีข่าวด้านร้ายเกี่ยวกับเกมต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจเป็นแค่กรณีที่บุคคลซึ่งมีความรุนแรงอยู่แล้วได้เลือกเล่นเกมที่มีลักษณะคล้ายกับตัวเอง และความจริงภาพยนตร์ในโทรทัศน์น่าจะมีอิทธิพลบ่มเพาะความรุนแรงในบุคคลในมากกว่าวิดีโอเกมด้วยซ้ำ”
ทั้งนี้ที่สำคัญที่สุดก็คือ เราควรดูแลลูกหลานให้เล่นเกมระดับที่เหมาะสมจนไม่เสียการเรียน ไม่ว่าจะเป็นเกมที่มีความรุนแรงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็คงไม่ต้องถึงกับบังคับให้เลิกเล่นเกมไปเลย ...เพราะมันโหดร้ายเกินไป!!
Did you Knows ?
ท่านเชื่อหรือไม่! ในอเมริกานั้น เกมสามารถลดอาชญากรรมได้ ซึ่งผลสำรวจจากผู้เล่นเกมทั้งหมด 1,000คน ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อปี 2002 แสดงให้เห็นว่า ช่วงก่อนที่จะมี Playstation ถือกำเนิดขึ้นมา การฆ่ากันตายของวัยรุ่นนั้นมีสูงมากพอสมควร แต่ช่วงหลังปี1995 ที่เกมที่มีความรุนแรงวางตลาดนั้น ทำให้อาชญากรรมนั้นลดลงไปเยอะพอสมควร ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่า น่าแปลกใจมาก
แสดงแบบ ด.ช.พิชยะ สติธโรปกรณ์ (น้องคัทซึ)
Related items
|