วัคซีนรัฐดีพอไหมสำหรับลูก |
|
|
|
Written by Administrator
|
Tuesday, 29 December 2009 |
“วัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขเลือกมาใช้นั้น ประสิทธิภาพดีเพียงพอที่จะป้องกันโรคได้แน่นอน แต่วัคซีนทางเลือกมักมีข้อได้เปรียบเรื่องผลข้างเคียงที่น้อยกว่า หรือจำนวนเข็มที่ฉีดมากกว่า”
ทราบว่าปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับเด็กเพิ่มมากขึ้น เลยสงสัยค่ะว่าวัคซีนชนิดใดที่จำเป็นต่อเด็ก เพราะเห็นมีทั้งวัคซีนบังคับและวัคซีนทางเลือก ขอคำแนะนำด้วยค่ะ
“วัคซีนบังคับ หมายถึง วัคซีนที่อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขค่ะ ซึ่งมีบริการให้วัคซีนทั่วประเทศและถือเป็นนโยบายที่เด็กทุกคนต้องได้รับวัคซีนกลุ่มนี้ โดยปัจจุบันวัคซีนที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ วัคซีนวัณโรค (BCG) วัคซีนคอตีบไอกรน บาดทะยัก (DTP) วัคซีนโปลิโอ (OPV) วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) วัคซีนตับอักเสบบี (HB) วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) ซึ่งเด็กทุกคนสามารถเข้ารับการให้วัคซีนได้ตามโรงพยาบาล อนามัย หรือศูนย์บริการสาธารณสุขได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
...ส่วนวัคซีนทางเลือก หมายถึง วัคซีนที่อยู่นอกแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข (EPI) ซึ่งอาจแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้ คือ หนึ่ง วัคซีนพื้นฐานเหมือนใน EPI แต่มีคุณลักษณะหรือรูปแบบต่างจากที่กระทรวงจัดหา มักมีราคาสูงกว่า เช่น วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV) วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ (acellular pertussis) ซึ่งทั้ง 2 ตัวมักอยู่ในรูปวัคซีนรวม
…สอง วัคซีนเสริมสำหรับเด็กปกติ ซึ่งไม่อยู่ในแผน EPI เนื่องจากภาระโรคไม่มาก หรือมีข้อจำกัดในการจัดสรรวัคซีนเช่นงบประมาณ เป็นต้น วัคซีนกลุ่มนี้ผู้ปกครองที่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายเองพิจารณาใช้ได้โดยปรึกษาแพทย์ ได้แก่ วัคซีนฮิบ วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต และวัคซีนโรต้า
...สาม วัคซีนรวม เป็นการรวมวัคซีนหลายชนิดในเข็มเดียว เพื่อลดจำนวนครั้งในการฉีด เช่น DTP-HB, DTP-HB-Hib, DTP-IPV เป็นต้น
...สี่ วัคซีนเสริมสำหรับผู้มีความเสี่ยงเฉพาะ หรือสถานการณ์เฉพาะ เช่น เด็กที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังได้แก่ โรคปอด โรคหัวใจ โรคเลือดธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยไม่มีม้าม และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องต่างๆ เช่น HIV มะเร็ง เด็กที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคพิษสุนัขบ้า จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันก่อนสัมผัสโรค”
การได้รับวัคซีนฟรีจากโรงพยาบาลของรัฐ ศูนย์สาธารณสุข อนามัย ประสิทธิภาพจะสู้วัคซีนราคาแพงได้หรือไม่ หรือต้องไปฉีดเพิ่มเติมในภายหลัง
“วัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขเลือกมาใช้นั้น ประสิทธิภาพดีเพียงพอที่จะป้องกันโรคได้แน่นอน แต่วัคซีนทางเลือกมักมีข้อได้เปรียบเรื่องผลข้างเคียงที่น้อยกว่า หรือจำนวนเข็มที่ฉีดมากกว่า เช่น ไม่ต้องฉีดหลายเข็มแล้ว ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้มีการนำวัคซีนรวม 4 โรค มาทดแทนในช่วงอายุที่ต้องให้ 2 เข็มแล้ว คืออายุ 2 และ 6 เดือน (วัคซีนคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-ตับอักเสบบี) ทำให้ลดปัญหาการต้องฉีดหลายเข็มไปได้
...นอกจากนี้ วัคซีนบางตัวก็มีผลข้างเคียงที่น้อยกว่า เช่น ไอกรนชนิดไม่มีเซลล์จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าชนิดปกติ 2 - 3 เท่า แต่มีราคาแพงกว่ามาก โดยจำเป็นต้องใช้ในกรณีที่เด็กมีโรคชัก โรคทางสมอง หรือมีปฏิกิริยาต่อการฉีดไอกรนชนิดธรรมดาอย่างมากเช่น ไข้สูง แต่กรณีเด็กทั่วไปยังสามารถให้แบบปกติได้ค่ะ”
เคยอ่านเจอว่ามีวัคซีนเสริมบางตัวด้วย มีความจำเป็นต่อเด็กอย่างไร ต้องให้จริงหรือไม่
“พ่อแม่บางท่านอาจสงสัยว่า วัคซีนหลายตัวที่แนะนำให้ในปัจจุบัน กระทรวงยังไม่ได้บรรจุในแผน แล้วมันจำเป็นจริงหรือไม่ หรือหมอแนะนำให้ฉีดเพราะอยากได้เงินเพิ่ม ดังที่กล่าวแล้วว่า วัคซีนบางอย่างที่ได้ผลดีแต่ความชุกโรคไม่สูง ภาระโรคไม่มาก หรือมีข้อจำกัดบางอย่างเช่น ความคุ้มค่าในการลงทุนให้วัคซีนทั่วประเทศไม่มากพอ ก็ยังไม่สามารถบรรจุใน EPI ได้ แต่การพิจารณาของคุณพ่อคุณแม่คงต้องขึ้นกับแต่ละครอบครัวทั้งเศรษฐานะ ลักษณะการเลี้ยงดู และสุขภาพของเด็กเองค่ะ”
รบกวนอีกเรื่องค่ะ จริงหรือไม่ที่เขาบอกว่าการฉีดวัคซีนอาจทำให้ลูกเสี่ยงต่อการเป็นออทิสติก พอดีอ่านเจอบทความนี้ในอินเตอร์เน็ต
“หมอขอใช้พื้นที่นี้ อธิบายที่มาที่ไปของข่าวลือนี้ เพื่อให้เกิดความกระจ่างและไม่ทำให้เด็กของเราพลาดโอกาสในการป้องกันโรคโดยไม่จำเป็นค่ะ
...โดยในปีค.ศ.1998 นายแพทย์ Andrew Wakefield แพทย์ระบบทางเดินอาหารในโรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งในอังกฤษ ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่องของระบบทางเดินอาหารกับโรคออทิสติกลงในวารสารการแพทย์ชื่อดัง “Lancet” โดยศึกษาจากผู้ป่วย Autistic12 ราย ซึ่งมี 8 รายที่พ่อแม่ให้ประวัติว่าเด็กเริ่มมีอาการของ Autism หลังจากฉีดวัคซีน MMR งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความเชื่อมั่นในวัคซีนของพ่อแม่ชาวอังกฤษ ผู้ปกครองชาวอังกฤษหยุดพาลูกไปฉีดวัคซีน MMR จนอัตราครอบคลุมของวัคซีนลดลงจากที่ควรมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ เหลือไม่ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นไม่นาน อัตราการเกิดโรคหัดในประเทศอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
...ในด้านวิชาการประเด็นที่ถกเถียงกันมากมาย ก็คือ งานวิจัยของนายแพทย์ Wakefield นั้น มีความบกพร่องทั้งวิธีการและจำนวนประชากรที่ศึกษา ทำให้มีงานวิจัยอีกนับร้อยชิ้นทั่วโลกที่ศึกษาเพิ่มเติมถึงความเกี่ยวข้องของโรคออทิสติก กับวัคซีน MMR และทุกงานวิจัยสรุปตรงกันว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกันระหว่างวัคซีน MMR และการเกิดโรคออทิสติก
…คำอธิบายถึงสาเหตุของผลการศึกษาชิ้นปัญหานั้นคือ อาจเป็นเพราะเด็กที่เป็นโรคออทิสติกมักจะถูกวินิจฉัยหรือตรวจพบความผิดปกติได้แน่ชัดในช่วงอายุ 1 - 1 1/2 ปี โดยที่ก่อนหน้านี้อาจมีพัฒนาการที่ดูปกติมาก่อนได้ และวัคซีน MMR ในประเทศอังกฤษจะมีการให้ในช่วงอายุ 12 - 15 เดือน จึงเป็นไปได้มากว่าผู้ปกครองเพิ่งเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติหลังฉีดวัคซีน และเข้าใจว่าวัคซีนเป็นสาเหตุของโรค
...แต่แม้ว่าจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาหักล้างมากมายแค่ไหน ปัจจุบันก็ยังมีพ่อแม่มากมายทั่วโลกที่ยังเชื่อข้อมูลนี้ และไม่พาลูกไปฉีดวัคซีน MMR อัตราการเกิดโรคหัดในอังกฤษก็ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ใน ปี 2008 มีผู้ป่วยเด็กเป็นโรคหัด ในอังกฤษและเวลส์ ทั้งหมด 1,348 ราย มีเด็กเสียชีวิตจากโรคนี้ 2 ราย ก่อนปี 1998 ซึ่งเป็นเวลาก่อนงานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่มีผู้ป่วยโรคหัดในประเทศอังกฤษและเวลส์เพียง 56 ราย
...จากข้อมูลทั้งหมดหวังว่าคุณพ่อคุณแม่คงตัดสินใจได้ว่าควรจะให้ลูกต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อโรคที่ป้องกันได้ หรือจะยืนยันต่อต้าน เพียงเพราะข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือชิ้นเดียวค่ะ”
พ.ญ.นันทกรณ์ เอื้อสุนทรวัฒนา
กุมารแพทย์พัฒนาการเด็ก
ขอขอบคุณ โรงพยาบาลปิยะเวท
โทร.0-2625-6500
Related items
|