หมวดหมู่บทความ พบคุณหมอเด็ก คลินิกหมอเด็ก

Search by tag : พบคุณหมอเด็ก, คลินิกหมอเด็ก, ห่วงน้องติดคางทูมจากพี่


เด็กมีปัญหาการเรียน PDF Print E-mail
Written by Administrator   
Monday, 25 January 2010
  สังคมปัจจุบันให้ความสำคัญอย่างมากกับเด็กที่เรียนดี เด็กที่มีพรสวรรค์ เด็กอัจฉริยะ กระแสของการเลี้ยงดูและวิธีที่จะส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันให้เด็กเป็น001.jpgอัจฉริยะ นับว่ามาแรง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสการเลี้ยงลูกให้เป็นอัจฉริยะ ในสังคมเรายังมีกลุ่มเด็กกลุ่มหนึ่งที่ผู้ใหญ่ควรให้ความสนใจ และให้ความช่วยเหลือ นั่นคือ กลุ่มเด็กที่มีปัญหาการเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่คุณครู คุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่รอบข้างมักตัดสินว่า เรียนไม่ดี เรียนไม่เก่ง ขี้เกียจ ไม่ตั้งใจเรียน หรือไม่ฉลาดเฉลียว เนื่องจากเด็กเองก็พยายามตั้งใจเรียนแล้ว แต่ผลการเรียนก็ยังไม่ดีอย่างที่พ่อแม่คาดหวัง เด็กกลุ่มนี้ต้องการความสนใจและความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่รอบข้างที่ใกล้ชิด
มีการศึกษาที่พบว่า ความล้มเหลวในการเรียนหนังสือของเด็กนั้น จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเด็กในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านอารมณ์ พฤติกรรม การมองตนเอง การปรับตัว การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งในครอบครัวและสังคมรอบข้าง เด็กที่เรียนไม่เก่งแล้ว ผู้ใหญ่รอบข้างไม่เข้าใจ ให้คำตำหนิ ดุว่า ไม่ให้กำลังใจกับเด็ก เด็กก็มักมองตนเองว่ามีปมด้อย มีความรู้สึกล้มเหลว ขาดความมั่นใจในตนเอง มีอารมณ์วิตกกังวล ซึมเศร้า หงุดหงิด ถ้ายิ่งถูกบ่นว่า ตำหนิมาก หรือนำไปเปรียบเทียบกับเด็กอื่นที่เรียนได้ดีกว่า ก็ยิ่งทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีต่อตนเองมากขึ้น พบพฤติกรรมด้านลบ เช่น ดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าว หลีกเลี่ยง การเรียนหนังสือ หนีเรียนเพื่อไปเที่ยว ไปเล่นเกม เด็กจะรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่ายต่อการเรียน ซึ่งเป็นปัญหาที่หนักหนาสำหรับเด็ก มากเกินกว่าที่เด็กจะต่อสู้และแก้ไขเองโดยลำพัง
เด็กที่มีปัญหาการเรียนนั้น พบได้ทุกช่วงอายุ ประมาณได้คร่าวๆ ว่า เด็ก 1 ใน 10 คน มีปัญหาการเรียน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย ดังนั้น ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็ก มีลูกมีหลานในวัยเรียน ไม่ว่าจะเรียนในระดับใด ควรสังเกตว่า เด็กมีปัญหาการเรียนหรือไม่ ถ้าสงสัยหรือไม่แน่ใจ ควรจะพาลูกหลานไปปรึกษากุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็ก ครู การศึกษาพิเศษ เพื่อขอคำแนะนำและให้ความช่วยเหลือต่อไป
ส่วนสาเหตุของปัญหาการเรียนในเด็กว่าเกิดจากอะไร ทำไมเด็กถึงเรียนรู้ได้ไม่ดี เท่ากับเด็กวัยเดียวกัน แบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้
1. ปัจจัยจากตัวเด็กเอง เช่น
ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง
เด็กจะเรียนรู้ได้ดี ก็ควรจะมีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ ลองคิดดูว่า ถ้าเด็กมีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหอบหืดชนิดรุนแรง โรคมะเร็งต่างๆ เด็กย่อมต้องขาดเรียนบ่อย เพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล การเรียนที่ไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้เด็กเบื่อหน่าย ท้อแท้ อาจกังวลกับภาวะโรคภัยของตัวเอง นอกจากนั้น ผลข้างเคียงจากการรักษา อาจส่งผลให้เด็กง่วงซึม ขาดสมาธิในการเรียน ผลของความเจ็บป่วย ก็จะทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้ตามศักยภาพแท้จริงที่มีอยู่
ภาวะการทำงานที่บกพร่องของสมอง
“สมอง” เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในเรื่องพัฒนาการการเรียนรู้ของมนุษย์ ถ้ามีเหตุปัจจัยลบใดๆ มากระทบต่อการทำงานและการเจริญเติบโตของสมอง โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กที่สมองยังต้องมีการเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างมหาศาล ย่อมทำให้เกิดการเรียนรู้ช้าหรือผิดปกติไป เช่น ภาวะปัญญาอ่อน (Mental Retardation) ซึ่งภาวะนี้การทำงานตามหน้าที่ของสมองจะบกพร่อง ทำงานน้อยกว่าอายุจริงของเด็ก เช่น เด็กอายุ 7 ปี แต่มีอายุสมองเท่ากับ 5 ปี เด็กก็จะมีความสามารถหรือมีความฉลาดเทียบเท่ากับเด็กอายุ 5 ปี ไม่สามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้ เท่ากับเด็กอายุ 7 ปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพูด ความเข้าใจภาษาพูด ภาษาท่าทาง การใช้มือทำงานในด้านต่างๆ การช่วยเหลือตัวเอง
ภาวะต่อไปที่ผู้ปกครองน่าจะเคยได้ยินพอคุ้นหูกันบ้าง ก็คือ โรคซน สมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactive Disorder) ซึ่งเกิดจากการทำงานบกพร่องของสมอง ทำให้เด็กมีอาการซน อยู่ไม่นิ่ง เคลื่อนไหวมาก ขาดสมาธิในการเรียน การทำงาน เด็กจะวอกแวกง่าย มีอาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม มีความยากลำบากในการควบคุมตัวเองตามกาลเทศะ โดยเฉพาะในสถานที่ที่เด็กควรสำรวมกิริยา การเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น ในห้องเรียน ในห้องสอบ ซึ่งอาการซน สมาธิสั้นของเด็กนั้น มีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน และส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กทั้งที่โรงเรียน ที่บ้าน และสถานที่ต่างๆ
ส่วนอีกภาวะหนึ่งที่สำคัญ และมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างยิ่ง จนหมอไม่สามารถละเลยไม่กล่าวถึงปัญหานี้ ถ้าเราพูดกันในเรื่องของปัญหาการเรียนในเด็กนั่น ก็คือ ภาวะบกพร่องของกระบวนการเรียนรู้ ที่เรียกว่า Learning Disorders (LD) หรือที่เราเรียกกันว่า “แอลดี” ซึ่งเป็นความบกพร่องของทักษะการเรียนรู้เฉพาะด้าน เช่น ด้านการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณโดยที่ใช้สติปัญญาของเด็กปกติดี โดยเด็กอาจจะมีความผิดปกติเพียงด้านใดด้านหนึ่ง หรือมีหลายด้านร่วมกันก็ได้
เด็กที่เป็นโรคนี้จะดูฉลาดเฉลียว พัฒนาการการเรียนรู้อะไรต่อมิอะไรช่วงวัยเด็กเล็กก่อนเข้าเรียนดูเหมือนเด็กปกติ แต่พอเริ่มเข้าโรงเรียนและเริ่มมีการเรียนหนังสืออย่างจริงจัง ซึ่งโดยทั่วไปก็น่าจะเป็นช่วงเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา เด็กก็จะเริ่มมีปัญหาเรื่องเรียน โดยเฉพาะในทักษะด้านที่เด็กมีความบกพร่อง เช่น เด็กเรียนชั้นประถมปีที่ 3 แล้ว แต่เด็กยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็นเท่าเด็กอื่นๆ ในวัยเดียวกัน ซึ่งถ้าผู้ปกครองไม่ทราบ ไม่เข้าใจว่าเด็กเป็นโรคนี้ อาจเข้าใจผิดว่าเด็กไม่ตั้งใจเรียน ขี้เกียจ มองเด็กในแง่ลบ ตรงนี้ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างผู้ใหญ่และเด็กได้ ทำให้เด็กเกิดความท้อแท้ เบื่อหน่ายการเรียน แล้วอาจจะเลิกเรียนกลางครัน ทำให้เสียโอกาสทางการศึกษาและโอกาสในการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย

Last Updated ( Saturday, 13 February 2010 )
 
< Prev   Next >
นิตยสาร M&C แม่และเด็ก ฉบับที่ 558 มีนาคม - เมษายน 2564