กฎ 3 ข้อในการควบคุมลูกให้ได้ผล |
|
|
|
Written by Administrator
|
Thursday, 11 September 2008 |
ก ารควบคุมลูกมากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี เหมือนการขึงเชือกนั่นเองครับ ตึงไปก็ไม่ดี หย่อนไปก็ไม่ดี การควบคุมลูกมากไปก็คือการเข้มงวดกับลูกเกือบทุกเรื่อง อาจทำให้ขาดความเป็นตัวของตัวเอง จะทำอะไรก็กลัวผิด กลัวจะถูกว่าไปหมด ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แต่ถ้าควบคุมไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสมก็มักจะทำให้ลูกรักเกิดปัญหาพฤติกรรมตามมาได้ครับ เช่น เอาแต่ใจตัวเอง หรือเวลาโกรธ ขัดใจอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ดังนั้นการยึดทางสายกลางในการควบคุมลูกจึงเหมาะสมที่สุดครับ
• เวลาต้องมาก่อน
ในทั้ง 2 บทบาทของพ่อแม่ คือการเลี้ยงดู และอบรม เวลาที่จะมีให้กับลูกเป็นสิ่งสำคัญมาก เราเลี้ยงดูลูกทางโทรศัพท์ไม่ได้ฉันใด เราก็ไม่สามารถควบคุมลูกผ่านทางโทรศัพท์ได้ฉันนั้น เขาอาจฟังแต่ไม่ทำ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาเลย แต่มานั่งบ่นว่าทำไมลูกดื้อ ทำไมลูกไม่เชื่อฟัง ผมจึงบอกว่าเวลาต้องมาก่อน พ่อแม่บางคนเข้าใจปัญหา และตั้งใจดีในการที่จะควบคุมลูก แต่ถ้าแทบจะไม่มีเวลาจะให้ลูกหรืออยู่กับลูกเลย ก็ยากครับ เวลาของพ่อแม่ทุกวันนี้หายไปจากภาวะเศรษฐกิจ ต้องทำงานหาเงินหลายคนมีความจำเป็น การทำงานของพ่อแม่กับการอบรมเลี้ยงดูลูก เปรียบเหมือนตาชั่ง 2 ข้าง ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทุ่มเทเวลาในชีวิตคุณให้ข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป อีกข้างย่อมน้อยลงแน่นอน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็พยายามทำให้สมดุลให้มากที่สุด นอกจากนี้พ่อแม่บางคนไม่สามารถจะสร้างความสัมพันธ์กับลูกได้ เพราะความห่างเหิน ไม่ค่อยมีเวลาได้อยู่กับลูก เช่นพ่อทำงานต่างจังหวัด หรืออยู่กับลูกแต่ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์ อาจใช้เวลากับเรื่องส่วนตัว เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต หรือเล่นกับลูกไม่เป็น และไม่พยายามฝึกทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับลูก
• กฎ 3 ข้อในการควบคุมลูกให้ได้ผล
หลักในการควบคุมเด็กให้ได้ผล มีความสำคัญมากครับ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
กฏข้อที่ 1. ใช้การออกคำสั่งที่เอาจริง แต่ไม่ใช้อารมณ์โกรธ
การที่คุณพ่อคุณแม่ใช้อารมณ์โกรธจะทำให้เกิดผลเสียดังต่อไปนี้คือ
- เด็กเรียนรู้เป็นเงื่อนไขว่า รอให้พ่อ-แม่โกรธก่อนค่อยทำตาม
- เด็กเรียนรู้ลักษณะการพูดและพฤติกรรมคุณพ่อคุณแม่เวลาโกรธไปโดยเด็กไม่รู้ตัว เช่น พูดตะคอก เสียงดัง กระแทกของหรือพูดคำหยาบ สุดท้ายเราต้องมานั่งแก้ สิ่งที่เขาเลียนแบบจากเราไป
- เด็กเอาอารมณ์โกรธของคุณพ่อคุณแม่มาควบคุมพ่อแม่เอง กล่าวคือเด็กโตบางคนจะยั่วให้พ่อแม่โกรธ รู้ว่าทำอย่างนี้ทำให้พ่อแม่โกรธ พอแกล้งทำให้มากขึ้น พ่อแม่ก็โกรธมากขึ้นตาม นั่นคือกลายเป็นเด็กกำลังควบคุมผู้ใหญ่อยู่ครับ
- จะคุมอารมณ์คนอื่นให้ได้ ควรคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน เด็กจะรับรู้การควบคุมอารมณ์ได้ดีและเชื่อฟังต่อเมื่อ ผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างในการควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ก่อนครับ
กฎข้อที่ 2. ความสม่ำเสมอ คงเส้นคงวา (consistency)
การที่เด็กมีพฤติกรรมเดียวกันแล้วคุณพ่อคุณแม่ตอบสนองไม่เหมือนกันทุกครั้ง หรือควบคุมไม่สม่ำเสมอ ทำบ้างไม่ทำบ้าง บางวันก็ควบคุมเข้มงวดบางวันก็ปล่อยให้ทำ ตัวอย่างเช่น ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง โกรธแล้วตีคุณพ่อคุณแม่ ขว้างของ วันนี้คุณแม่เห็นอาจใช้วิธีสอน อีกวันลูกมีพฤติกรรมเดียวกัน คุณแม่กลับจากทำงานเหนื่อย หงุดหงิด ก็ใช้วิธีตีลูกไปด้วยความโกรธ อีกวันแม่อาจรู้สึกเบื่อหน่ายแล้ว พูดเท่าไรก็ไม่ฟัง เลยพยายามทำเป็นมองไม่เห็น เดินหนีไป จะเห็นว่าเด็กมีพฤติกรรมเดียวกันทุกวันแต่คุณพ่อคุณแม่ตอบสนองแตกต่างกัน ทำให้การควบคุมไม่มีประสิทธิภาพและกฎเกณฑ์ระเบียบวินัยไม่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก
นอกจากนี้ความไม่สม่ำเสมอ ไม่คงเส้นคงวา ยังเกิดขึ้นได้จากกรณีที่ผู้ใหญ่แต่ละคน ตอบสนองต่อพฤติกรรมเด็กไม่เหมือนกัน กล่าวคือผู้ใหญ่ขัดกันเองในการวางกฎเกณฑ์นั่นเองครับ เช่น แม่ไม่ยอมให้ลูกเล่นลิปสติกแม่เพราะจะหักเสียหาย แต่เวลาอยู่กับพ่อ พ่ออนุญาตให้เล่น บอกว่าควรให้เด็กเล่น หรือพ่อต่อว่าแม่ว่า “ทำไมแค่นี้ ให้ลูกเล่นไม่ได้” เด็กก็จะไม่สามารถเข้าใจกฎเกณฑ์ได้ว่าตกลงการเล่นลิปสติกแม่ ทำได้หรือไม่ได้กันแน่ เพราะแม้แต่พ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ยังขัดแย้งกันเอง ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงควรคุยกันตกลงกันให้เรียบร้อยด้วยเหตุผลก่อนเพื่อจะได้ควบคุมเด็กให้ไปในทิศทางเดียวกันครับ กรณีดังกล่าวยังมักเกิดการขัดกันระหว่างพ่อแม่และปู่ย่าตายายที่มีแนวโน้มตามใจเด็กด้วย เช่นพ่อแม่ไม่ให้ทำ แต่ปู่ย่าตายายตามใจ ยอมให้ทำ
กฎข้อที่ 3. ความหนักแน่น มั่นคง
เวลาคุณพ่อคุณแม่บอกว่า “ไม่” เด็กอาจร้องหรือแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม แล้วพ่อแม่ยอมตาม เปลี่ยนจาก “ไม่” เป็น
“ให้” เท่ากับสอนให้เด็กเรียนรู้ว่าเวลาอยากได้อะไร ให้มีพฤติกรรมแบบนี้หรือร้องแบบนี้ แล้วจะได้สิ่งที่ต้องการ เป็นปัญหาพฤติกรรมที่เด็กลงไปร้องดิ้น หรือร้องนานไม่ยอมหยุดเวลาถูกขัดใจ คุณพ่อคุณแม่จึงควรหนักแน่น มั่นคงไม่โลเลเปลี่ยนใจไปมา เพราะกลัวลูกร้องครับ
บ่อยครั้งที่ผมพบว่าการที่คุณพ่อคุณแม่ควบคุมลูกไม่ได้นั้น เพราะขาดข้อใดข้อหนึ่งหรือทุกข้อ ใน 3 ข้อของการควบคุมลูกให้มีประสิทธิภาพ พอคุณพ่อคุณแม่ได้ปรับเปลี่ยน บางทียังไม่ทันปรับพฤติกรรมอะไรเลย ลูกก็ดีขึ้นแล้ว ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ได้ลองสำรวจตนเอง แล้วนำมาปรับปรุง แก้ไข ผมเชื่อแน่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะสามารถควบคุม และช่วยเสริมสร้างวินัยลูกได้ดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ
น.พ.กมล แสงทองศรีกมล
กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
เด็กเรียนรู้การพูดและพฤติกรรมพ่อแม่เวลาโกรธไปโดยเด็กไม่รู้ตัว เช่น พูดตะคอก เสียงดัง กระแทกของหรือพูดคำหยาบ สุดท้ายเราต้องมานั่งแก้ สิ่งที่เขาเลียนแบบจากเราไป Related items
|
Last Updated ( Thursday, 11 September 2008 )
|