หมวดหมู่บทความ คลินิคคุณแม่ คลินิกหมอสูติ

Search by tag : คลินิคคุณแม่, คลินิกหมอสูติ, เส้นเลือดขอดสร้างปัญหาให้แม่ท้องคลินิกหมอสูติ, พ.ญ.ปาริชาติ ธนะสิทธิชัย, เส้นเลือดขอดสร้างปัญหาให้แม่ท้อง, คลินิกหมอสูติ


คุมกำเนิดชั่วคราวแบบไหนดี PDF Print E-mail
Written by Administrator   
Friday, 03 September 2010

คุณแม่ท่านหนึ่งเขียนมาถามถึงวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวที่เหมาะสม เนื่องจากเธอมีลูกแล้ว 2 คน ยังอยากมีคนที่ 3 เพื่อหวังจะได้ลูกชาย แต่ด้วยเศรษฐกิจตอนนี้ จึงอยากพักสักปีสองปี คุณแม่ถามมาว่า มีวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวแบบไหนบ้าง เราจึงเดินทางมาที่โรงพยาบาลปิยะเวท พูดคุยกับ นพ.มรว.ทองทิศ ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสถาบันเพอร์เฟควูแมน คุณหมอแนะนำว่า
“การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ก็มีตั้งแต่การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งเป็นวิธีคุมกำเนิดที่นิยมใช้กัน ทั้งสะดวกและมีอยู่หลายชนิดให้เลือก แต่มีข้อห้ามในการใช้สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
...โดยรวมแล้วยาเม็ดคุมกำเนิดก็แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน ซึ่งเป็นแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด แผงหนึ่งอาจมี 28 หรือ 21 เม็ดแล้วแต่ชนิดสำหรับแผง 28 เม็ดมียา 2 สี โดยมี 21 เม็ดแรกเป็นยาฮอร์โมน เหมือนกับชนิดแผงละ 21 เม็ด ส่วน 7 เม็ดสุดท้ายจะเป็นวิตามิน วิธีทาน ถ้าแผง 28 เม็ด ก็เริ่มทานยาวันละเม็ดตามลูกศรตั้งแต่วันที่ 1 – 5 ของรอบระดู จนหมดแผง แล้วเริ่มแผงใหม่ในวันถัดมา ซึ่งส่วนใหญ่ระดูจะมาในช่วงทานยา 7 เม็ดสุดท้าย ส่วนแผง 21 เม็ด เริ่มทานยาวันละเม็ดตามลูกศรตั้งแต่วันที่ 1 – 5 ของรอบระดู จนหมดแผง หยุดยา 7 วันก่อนที่จะเริ่มแผงใหม่ ถ้าลืมทาน 1 เม็ด ก็ให้ทานยาทันทีที่นึกได้ ที่เหลือก็ทานเหมือนเดิม ถ้าลืมทาน 2 เม็ด ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของระดู ให้ทาน 2 เม็ดทันทีเมื่อนึกได้ และทาน 2 เม็ดในวันถัดมา ที่เหลือทานเหมือนเดิม แต่ถ้าลืม 2 เม็ดในช่วง 2 สัปดาห์หลังของระดู ให้ทาน 2 เม็ดทันทีเมื่อนึกได้ และทาน 2 เม็ดในวันถัดมา ร่วมด้วยการใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยเป็นเวลา 1 สัปดาห์
...ต่อมา คือการทานฮอร์โมนโปรเจสโตเจนอย่างเดียว คือ ให้ทานยาวันละเม็ดตามลูกศรตั้งแต่วันที่ 1 – 5 ของรอบระดูจนหมดแผง แล้วเริ่มแผงให้ในวันถัดมาควรจะทานยาในเวลาเดียวกันทุกวันหรือห่างกับเวลาเดิมไม่เกิน 2 ชั่วโมง เนื่องจากประสิทธิภาพการคุมกำเนิดจะลดลง
....อีกชนิด คือ ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน การคุมกำเนิดวิธีนี้สะดวก แต่โอกาสตั้งครรภ์สูงกว่า 2 กลุ่มแรก สามารถใช้ได้ในช่วงไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ โดยทานยาเม็ดแรกทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์หรือไม่เกิน 5 วัน และทานยาเม็ดที่ 2 ใน 12 ชั่วโมงต่อมา การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ไม่ควรใช้เป็นวิธีคุมกำเนิดประจำ เพราะมีผลข้างเคียง เช่น รบกวนรอบระดูปกติ ทำให้มาไม่สม่ำเสมอและออกกระปริกระปรอยได้ถ้าใช้เป็นประจำ หรืออาจเกิดคลื่นไส้อาเจียน
...สำหรับการใช้ยาฉีดคุมกำเนิด สามารถฉีดได้ตั้งแต่ระยะหลังคลอดใหม่ ๆ ไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนม แพทย์จะนัดฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ ทุก 3 เดือน ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดดี เหมาะสำหรับการคุมกำเนิดระยะยาว ไม่ต้องกินยาทุกวัน ราคาถูก แต่อาจมี ผลข้างเคียง เช่น เลือดประจำเดือนกระปริกระปรอยในระยะแรกแต่หลังจากนั้นส่วนใหญ่จะไม่มีประจำเดือน น้ำหนักขึ้นและ เมื่อหยุดฉีดยา อาจจะประมาณ6 เดือนถึง 1 ปี จึงจะมีประจำเดือนและมีภาวะตกไข่ตามปกติ จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดในระยะเวลาสั้น ๆ แต่เหมาะสำหรับสตรีที่ให้นมบุตร หรือมีปัญหาจากการใช้ ห่วงอนามัยหรือลืมกินยาบ่อยๆ”
การใช้ห่วงคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด และถุงอนามัย วิธีไหนที่น่าจะเหมาะสมกว่า และมีวิธีใช้อย่างไรที่ถูกต้อง
“การใช้ห่วงคุมกำเนิดนั้น เหมาะสำหรับสตรีที่มีบุตรแล้วและไม่มีความผิดปกติของมดลูกครับ ซึ่งการใส่ห่วงคุมกำเนิด กลไกคือห่วงจะไปขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูก แพทย์จะใส่ห่วงคุมกำเนิดเข้าไปในโพรงมดลูก แล้วเหลือสายห่วงออกมาจากปากมดลูกยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ดังนั้นจะต้องตรวจสายห่วงเป็นระยะ อายุการใช้งานของห่วงคุมกำเนิด คือ 3 - 5 ปี แล้วแต่ชนิดของห่วงคุมกำเนิด ข้อดีคือไม่ต้องกินยาทุกวัน ไม่ต้องถูกฉีดยาทุก 3 เดือน ไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว ไม่คลื่นไส้อาเจียน ไม่ทำให้เกิดสิวฝ้ามากขึ้น แต่ข้อเสียคือ ต้องคอยตรวจเช็คสายห่วงอย่างสม่ำเสมอ
...ส่วนการใช้ยาฝังคุมกำเนิด สามารถทำได้ตั้งแต่ระยะคลอดใหม่ๆ ไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนม โดยแพทย์จะฝังหลอดยาเล็กๆ ยาว ประมาณ 3 เซนติเมตร แบบจำนวน 1 หลอด 2 หลอด หรือ 6 หลอด แล้วแต่ชนิดของยา เข้าใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขนด้านใน ยาฝังคุมกำเนิดจะมีฤทธิ์คุมกำเนิด 3 - 5 ปี แล้วแต่ชนิดของยา ข้อดีคือสามารถคุมกำเนิดได้นาน ไม่ต้องกินยาทุกวัน ไม่ถูก ฉีดยาบ่อยๆ และ ไม่ต้องเช็คสายห่วง ไม่มีโอกาสหลุดเหมือนห่วงคุมกำเนิดแต่ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ประจำเดือนกระปริ กระปรอย น้ำหนักขึ้น
...ส่วนการใช้ถุงยางอนามัย นอกจากคุมกำเนิดแล้วยังสามารถป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย โอกาสล้มเหลวในการ คุมกำเนิดอาจจะสูงเพราะ วิธีการใช้ไม่ถูกต้อง คุณภาพของถุงยางไม่ดีทำให้ขาดหรือรั่วได้”
สามารถใช้วิธีนับวันได้หรือไม่ จะป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีวิธีอื่นๆ อีกหรือไม่
“การนับวัน วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีรอบประจำเดือนสม่ำเสมอ โดยช่วงที่ปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์ คือ หน้า 7 หลัง 7 หมายถึง ช่วงที่มี โอกาสตั้งครรภ์ต่ำถ้ามีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ คือในช่วงก่อนมีประจำเดือน 7 วัน และหลังจากมีประจำเดือน 7 วัน การ คุมกำเนิดวิธีนี้มีโอกาสล้มเหลวในการคุมกำเนิดได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากการนับวันผิดพลาด และไม่เหมาะสำหรับผู้ที่รอบเดือนไม่สม่ำเสมอ
...นอกจากนี้ ยังมีการคุมกำเนิดวิธีอื่น ๆ อีกเช่น การหลั่งภายนอก การใช้น้ำยาฆ่าเชื้ออสุจิ การสวนล้างช่องคลอด ซึ่งวิธี เหล่านี้มีโอกาสล้มเหลวในการคุมกำเนิดได้มาก ดังนั้นการคุมกำเนิดแต่ละวิธีอาจเหมาะกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นกับความต้องการมีบุตรอีกหรือไม่ ระยะเวลาที่ต้องการคุมกำเนิด การยอมรับได้กับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ความสะดวก ราคา โรคประจำตัวที่เป็นข้อบ่งห้ามในการคุมกำเนิดแต่ละวิธี”

นพ.มรว.ทองทิศ ทองใหญ่
สูติ-นรีแพทย์
ขอขอบคุณ สถาบันเพอร์เฟควูแมน
โรงพยาบาลปิยะเวท โทร.0-2625-6500

ความเห็น (0)Add Comment
เขียนแสดงความเห็น
 
  smaller | bigger
 

busy
 
< Prev   Next >
นิตยสาร M&C แม่และเด็ก ฉบับที่ 558 มีนาคม - เมษายน 2564