|
Written by Administrator
|
Monday, 11 October 2010 |
ก่อนตั้งครรภ์ไม่เคยเป็นเบาหวาน แต่พอมาตรวจตอนตั้งครรภ์แล้ว 3 เดือน พบว่ามีภาวะเบาหวาน ทั้งที่ทานไม่มาก เกิดจากอะไร แล้วจะมีวิธีรักษาอย่างไร
“ต้องบอกก่อนว่าคนตั้งครรภ์สามารถเป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ได้ครับ เนื่องมาจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จนเป็นเบาหวาน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นในคนท้องทุกคน อาจจะเกิดขึ้นเป็นบางคน เทียบเปอร์เซ็นต์แล้วก็ไม่มาก ซึ่งการที่พบว่ามีเบาหวานในคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ผลกระทบก็จะเป็นเช่นเดียวกับแม่ที่ภาวะเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว จึงตั้งครรภ์ นั่นคือ อาจมีผลให้ทารกที่คลอดออกมาไม่แข็งแรง พิการ หรือตัวเล็กกว่าปกติ รกไม่สมบูรณ์ เกิดการแท้งได้ง่าย หรือทารกอาจได้ผลกระทบจากภาวะน้ำตาลสูง ตัวโตกว่าปกติ คลอดลำบาก พอคลอดออกมา อาจมีภาวะแทรกซ้อน น้ำตาลในทารกต่ำหรือมีภาวะปอดไม่แข็งแรง หายใจลำบาก ดังนั้น การรักษาไม่ว่าจะเป็นเบาหวานมาก่อนแล้วตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์แล้วเป็นเบาหวาน ก็จะไม่ต่างกันมาก คือแพทย์จะแนะนำให้แม่ต้องควบคุมอาหาร พร้อมอาจต้องรับการฉีดอินซูลินทุกวัน เนื่องจากไม่สามารถใช้ยาเม็ดเบาหวานได้ในคนท้อง เพราะอาจจะมีผลต่อเด็ก อย่างไรก็ดี ภาวะเบาหวานนี้ส่วนใหญ่จะหายไปหลังจากคลอดแล้วครับ”
สังเกตว่าอากาศเริ่มหนาวแล้ว อยากรู้ว่าทารกจะรู้สึกหนาวด้วยหรือเปล่าคะ จะได้หาผ้ามาห่อตรงช่วงท้องหนาๆ หน่อย
" ส่วนทารกนั้น ว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ ก็ต้องบอกตรงๆ ว่าไม่เป็นอะไรแน่นอนครับ เพราะทารกอยู่ในครรภ์ มีมดลูกและน้ำคร่ำป้องกันอยู่ น้ำคร่ำก็จะเป็นตัวที่ช่วยปรับอุณหภูมิมิให้พอเหมาะกับทารกอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าจะห่วง ห่วงตัวคุณแม่เองดีกว่าครับ ปกติร่างกายคนเราจะมีการปรับอุณหภูมิในตัวเองให้เข้ากับอุณหภูมิภายนอกอยู่แล้ว แม้ว่าจะเป็นแม่ตั้งครรภ์ก็ตาม ฉะนั้นอากาศหากไม่ได้หนาวมากเกินไป คือเป็นอุณหภูมิโดยทั่วไปของฤดูหนาว ก็ไม่ให้ทำให้แม่เป็นอะไรมากหรอกครับ นอกจากอาจเป็นไข้ ไม่สบาย ซึ่งจริงๆ ว่าไปบ้านเราฤดูหนาวก็ใช่ว่าจะหนาวมาก คงไม่ต้องกังวลอะไร แต่ก็ควรดูแลตัวเองไปด้วย อาจใส่เสื้อให้หนาขึ้นหน่อย หรือออกจากบ้านน้อยลงหน่อย ยิ่งถ้าเป็นไข้ ก็ไม่ควรออกไปไหนมาไหนหรือทำกิจกรรมอะไรที่ต้องใช้แรงมากๆ นะครับ”
มีญาติตั้งครรภ์ได้ 4 เดือนกว่าๆ แล้วพบว่าเป็นครรภ์ไข่ปลาอุกจึงแท้งลูก อยากรู้ว่าครรภ์ไข่ปลาอุกเป็นอย่างไรคะ ป้องกันได้หรือไม่ และจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองมีครรภ์ไข่ปลาอุก
“ไข่ปลาอุกที่ว่ากันนี้ ก็คือตัวอ่อนของทารกนั่นเองครับ แต่เป็นตัวอ่อนที่ไม่สมบูรณ์ อันเกิดจากความผิดปกติในขั้นตอนการปฏิสนธิระหว่างเซลล์สืบพันธ์ที่สมบูรณ์อย่างละหนึ่ง พูดง่ายๆ คือ เป็นความผิดปกติอันเกิดจากการปฏิสนธิของไข่และอสุจิ ซึ่งปกติการปฏิสนธิเกิดจาก เซลล์สืบพันธุ์ที่สมบูรณ์อย่างละหนึ่งเท่านั้น ครรภ์ไข่ปลาอุกมักจะเกิดจากอสุจิหนึ่งตัว ปฏิสนธิกับไข่หนึ่งใบ ซึ่งโครโมโซมเพศหลุดหายไป ทำให้ได้ตัวอ่อนที่มีโครโมโซมเพศเฉพาะจากอสุจิเท่านั้น หรืออีกกรณีหนึ่งจะเกิดจากอสุจิสองตัว เข้าปฏิสนธิกับไข่หนึ่งใบ ทำให้มีจำนวนโครโมโซมมากเกินไป เซลล์ตัวอ่อนที่ได้จากทั้งสองกรณี จึงเจริญเติบโตอย่างไม่สมบูรณ์และแบ่งตัวอย่างไร้ระเบียบ จนกลายเป็นตัวอ่อน ซึ่งมีลักษณะคล้ายถึงน้ำ หรือบางคนจะเรียกว่าเม็ดสาคูหรือไข่ปลาจำนวนมากอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำ จากนั้นไข่ปลาก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มดลูกไม่โตเป็นสัดส่วนตามอายุครรภ์ ส่งผลให้มดลูกขยายใหญ่อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดนี้ จะสร้างฮอร์โมนเฉพาะที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ออกมา ไปกระตุ้นให้ต่อมธัยรอยด์ทำงานมากขึ้น ทำให้แม่ตั้งครรภ์แสดงอาการคล้ายต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ รวมทั้งอาจเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอันตรายอย่างมาก การรักษานั้นก็ต้องรีบพามาพบแพทย์โดยทันทีครับ ซึ่งเป็นเทคนิคทางการแพทย์ แต่ให้ทำใจว่า การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก นั่นแสดงว่าเด็กได้หยุดเจริญเติบโตแล้วนั่นเองครับ”
น.พ.ลาน เกิดผล
สูติแพทย์
|
|
|
|
|
|