จากวิเศษนิยม สู่งานเพื่อสังคม...เรือนแก้ว กุยยกานนท์ แบรนดท์ |
|
|
|
Written by Administrator
|
Friday, 26 November 2010 |
คุณเรือนแก้ว กุยยกานนท์ แบรนดท์
อดีตกรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานวิเศษนิยม ผู้ผลิตยาสีฟันผง ยี่ห้อ
วิเศษนิยม แม้ว่าเวลานี้จะเกษียณตัวเองจากธุรกิจของครอบครัวมาได้ 2 ปี แต่ก็ยังคอยดูแลอยู่ห่างๆ
อย่างห่วงๆ ด้วยอายุอานามเกือบ 67 ปีแล้วแล้วแต่งานยังล้นมือไม่ได้ขาด เพราะตอนนี้ทุ่มเทกับงานเพื่อสังคมอยู่ทุกลมหายใจ
หากจะมานั่งนับกันว่าเธอได้ทำอะไรเพื่อสังคมมาบ้าง
คงนับกันไม่หวาดไม่ไหวอย่างแน่นอน เพราะเธอทำมาแล้วทั้งงานราษฏ์งานหลวง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช –
กระทรวงสาธารณสุข,
ประธานก่อตั้ง
มูลนิธิสมาคมสตรีนานาชาติแห่งประเทศไทย, กรรมการอำนวยการ สมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯลฯ
จากวิเศษนิยม...สู่งานเพื่อสังคม
“สำหรับที่วิเศษนิยม
ตอนนี้ก็เป็นที่ปรึกษา เพราะว่าเกษียณแล้วไม่ได้บริหารโดยตรง ตอนนี้มอบหมายให้น้องๆ
ดูแลไป ซึ่งเมื่อก่อนก็ทำดูแลบริหารอยู่ก็เรียบร้อยดีเพราะว่าเป็นของครอบครัวเก่าแก่มาค่ะ ตั้งแต่สมัยคุณตาคุณยายตั้งมา 70 กว่าปีแล้ว
เพราะว่าตอนนั้นในช่วงสมัยสงครามโลก ก่อนพวกเราเกิดอีก ก็เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะสมัยนั้นยังไม่มียาสีฟันเกี่ยวกับสมุนไพรนี้มากนัก
ก็เลยอยู่ยงคงกระพันมาเรื่อยๆ และอีกอย่างคือเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและผู้ที่คิดสูตรก็เป็นหมอ
เป็นแพทย์แผนไทย ส่วนผสมก็เป็นสมุนไพรไทย แต่ก็มีบางอย่างที่เราต้องนำเข้ามา อย่างพิมเสน
และเมทอล ค่ะ สูตรเป็นของคุณยายทำมา ทราบแต่ว่าเป็นอาจารย์เป็นคุณหมอให้คุณตาคุณยายมาในสมัยนั้น
ลูกหลานก็คล้ายๆ รับมรดกสืบทอดต่อๆ กันมาค่ะ
...ตอนนี้เกษียณแล้วส่วนใหญ่ก็ช่วยงานสังคมได้เยอะ
เพราะว่าทำมาเยอะ หลายๆ สมาคมในด้านการเมือง แล้วก็เป็นอาจารย์ด้วย ก็เป็นมากแล้วนะ
ทำงานเกี่ยวกับสังคม องค์กรเอกชนหลายๆ แห่ง ระดับล่างจนระดับต่างประเทศนะคะ ซึ่งตัวเองจริงๆ
แล้วก็มีอาชีพอื่นด้วยนะคะ คือเป็นนักวิชาการด้วย เป็นอาจารย์ ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสังคม
และก็ทำบริษัทเกี่ยวกับสวนยางแล้วก็ทำเกี่ยวกับเครื่องจักรส่งออกนอก นอกจากนี้เราก็ปลูกสวนยางพาราอยู่ที่จังหวัดน่านค่ะ”
สูตรความสำเร็จธุรกิจงอกงาม
“เราจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง
สำคัญมากนะคะ จริงๆ แล้วธุรกิจของครอบครัวก็ไม่ใช่ธุรกิจใหญ่โต ก็สืบทอดจากปู่ย่าตายายมา
เราก็รับมาถือว่าเราโชคดี เพราะฉะนั้นเราก็ทำไปบริจาคไป ความซื่อสัตย์สุจริตก็ดี ความซื่อตรงไม่เอาเปรียบ
และต้องให้เกียรติกับผู้ร่วมงาน นี่คือหลักสำคัญในการบริหารงาน
...คือเป็นบริษัทเล็กๆ เวลามีปัญหาก็ไม่ได้หนักหนาอะไร
ก็มีบางครั้งที่มีปัญหาในเรื่องการเงิน ซึ่งเราก็มีเครดิตนะคะ พอเรามีความซื่อสัตย์สุจริตแล้วนี่
คนเค้าก็ช่วยเหลือ ธนาคารก็ช่วยเหลือต่างๆ ในที่สุดก็แก้ปัญหาได้ เราจะต้องอยู่บนรากฐานความซื่อสัตย์สุจริตนะ
ก็ต้องให้ความเคารพนับถือเพื่อนร่วมงาน เราจะปฏิบัติตัวกับคนอื่นเหมือนที่เราอยากให้เค้าปฏิบัติตัวกับเรา
คนที่ร่วมงานกับเรามา เค้าจะรู้ว่าเรามีนิสัยยังไง ตรงไปตรงมา บางทีบางคนไม่เข้าใจจะคิดว่าเราดุบ้าง
คือตรงเกินไปบางทีคนก็ไม่ชอบ แต่ว่าถ้าเข้าใจเขาจะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญ
ยิ่งถ้าเราอยู่ในคนหมู่มากนี่ถ้าเราไม่มีจุดยืนมันก็มีแต่ปัญหาเกิดขึ้น แต่ถ้าเรามีจุดยืนที่คนอื่นสามารถเข้าใจได้เค้าก็จะยอมรับได้
ปัญหามันก็จะน้อย การที่จะมาพูดนอกรอบการนินทาอะไรกัน จะไม่ค่อยเกิดกับเราเพราะเค้ารู้ว่าเราไม่ฟัง
เพราะไม่ใช่เป็นสิ่งที่สำคัญ อยากจะทำอะไรก็มุ่งไปตรงนั้น เราก็ทำ ทำไม่ได้ก็คือจบ”
งานเพื่อสังคมที่ฉันรัก
“จริงๆ
แล้วเราเกิดมาในครอบครัวที่คุณตาคุณยายใจบุญศุลทานนะคะ ทำบุญใส่บาตรมาตั้งแต่เด็ก พออยู่โรงเรียนถึงจะเติบโตมาอยู่ในโรงเรียนคริสเตียนก็จริง
แต่ก็มีคุณธรรมสอนวัฒนธรรมที่ดี บางอย่างก็อยู่ที่การปลูกฝังการอบรมบ่มเพาะของแบบนี้ไม่ต้องมานั่งสอนกันตอนโตหรอก
ถ้าปลูกฝังเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกหลานนะ เค้าก็เติบโตขึ้นมามีการตัดสินใจของได้เอง
“
...เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว มีผู้ใหญ่ชักชวนให้มาทำงานสังคม
จากสมาคมนี้ไปสมาคมโน้น ก็ได้รับเชิญได้รับเกียรติอยู่เสมอ เราก็ถือว่าการที่คนเค้ามาให้เกียรติเราโดยเชิญเข้าไปร่วมงานต่างๆ
นี่เพราะว่าเรามีคุณภาพ ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ ถ้ามีอะไรช่วยได้ก็ช่วยไป
...คือเราไม่ได้คิดหรอกนะคะว่าใครจะมายอมรับเราหรือไม่
อันนั้นเป็นเรื่องของคนอื่นที่จะมาตัดสิน ถ้ารับงานอะไรมาก็พยายามทำด้วยความรับผิดชอบนะคะ
และก็ทำให้ดีที่สุด ปรับปรุงตัวเองทั้งในด้านวิชาความรู้ด้วย ศึกษาหาข้อมูลก่อนที่จะไปทำงาน
เรียกว่าจะไปงานไหนก็เตรียมพร้อมในเรื่องนั้นๆ ให้มีความรู้มากที่สุดค่ะ”
ต้องเดินทางบ่อยช่วยงานมูลนิธิ
“ตอนนี้ที่ช่วยอยู่และใช้เวลามากหน่อยก็จะเป็นมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
ต้องออกต่างจังหวัดมากถึง 21 แห่ง แล้วก็มีมูลนิธิสมาคมสตรีนานาชาติที่ช่วยอยู่ เพราะว่าเป็นประธานของคณะทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย
ทางโรงพยาบาลต้องการอะไรเราก็จะช่วยประสานให้ ก็ทำประโยชน์ให้กับชาวบ้านค่ะ ลงพื้นที่ก็สนุกดี
(หัวเราะ) ประทับใจในลักษณะที่เป็นกันเอง ออกไปก็ได้ไปทำงานจริงๆ ไปเดินตากแดดร้อนแต่ก็ไม่เป็นไร
มีร่มมีพัดเราก็ถือไป (หัวเราะ)
...เหนื่อยก็นอนพักเพราะสิ่งต่างๆ
ไม่มีใครมาบังคับเรา เราทำงานด้วยความศรัทธาด้วยความเต็มใจ เราเหนื่อยเราก็ไม่ไป เราเหนื่อยเราก็นอนพักอะไรอย่างนี้
(หัวเราะ) มันมีความหลากหลายไง เดี๋ยวออกต่างประเทศเดี๋ยวออกต่างจังหวัด ก็เลยไม่ค่อยจะน่าเบื่อหน่าย
เราก็ได้พบคนมากหน้าหลายตา ในหลายระดับได้เจอผู้ใหญ่เราก็ได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ เด็กเราก็เป็นผู้สอนให้เค้า
มีเพื่อนก็สนุกสนานไปไม่ค่อยเครียดค่ะ (หัวเราะ)
เรื่องงานและชีวิตครอบครัวที่ลงตัว
“คือเป็นคนโชคดีที่สามีและลูกเค้าก็เข้าใจ
ไม่ต้องมานั่งตัวติดกันตลอดเวลา ใครมีความคิดเห็นยังไง ใครมีงานอะไรก็ต่างคนต่างไปทำหน้าที่ของตัวเอง
ตอนเย็นกลับมาบ้านก็มาคุยกัน โทร.คุยกันบ้าง เพราะว่าคนในครอบครัวเราก็รู้ว่าใครมีบทบาทอะไรก็รับผิดชอบ
ไม่ต้องให้มาเครียดไม่ต้องให้มีปัญหา อยู่กันอย่างประชาธิปไตยน่ะคืออยู่กันอย่างนี้มานานแล้วค่ะ
...สามีเป็นชาวอเมริกันเค้าก็ดีกับเรา
เราก็ดีกับเค้า อยู่บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน จะต้องยอมรับซึ่งกันและกันนะคะ
คือไม่มีอะไรถูกใจเราไปหมดบางครั้งเราก็มีอารมณ์มีรำคาญเหมือนกัน เค้าก็มีเหมือนกัน
แต่ก็อะลุ้มอล่วยกันมา ยิ่งพอมีลูก มีหลานก็ยิ่งจะเห็นว่าความแตกต่างความคิดเห็นไม่ลงรอยเป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน
พูดกันไม่รู้เรื่องก็ไม่ต้องพูดเลย (หัวเราะ) เก็บไว้ให้พูดรู้เรื่องก่อนค่อยพูด ฉะนั้นมันก็มีเวลาที่ดี
มีความสุข
...เป็นคนที่ไม่ค่อยเครียดนะและไม่ค่อยมีเรื่องหนักใจ
แล้วอะไรที่ทำไม่ได้จริงๆ และไม่มีคนช่วยเราก็ปล่อยวางไปเลยแล้วก็ไม่แคร์ คือมันไม่เคยประสบอะไรที่สาหัสจนต้องกินไม่ได้
นอนไม่หลับ ไม่มีค่ะ ครอบครัวเราก็เข้าใจ ก็เลยไม่ค่อยจะเป็นคนประสบปัญหาอะไรที่เครียดมากมาย
ถึงบอกว่าอันนี้ก็เป็นกำลังใจอย่างหนึ่งที่ทำให้เราผ่านพ้นในยามที่เราคับขัน
ก็เลยว่าเรามีบุญ เราก็ทำงานต่อไป ใครใช้ให้ทำเราก็ทำให้ และเราคิดว่าในสิ่งที่เราแบ่งปันให้สังคม
ทำงานร่วมกับคนอื่นนี่ก็เป็นผลบุญ ทำให้อะไรต่างๆ มักจะราบรื่นและผ่านพ้นอุปสรรคไปด้วยดีค่ะ”
“งานสังคมไม่ใช่เป็นงานที่จะทำวันนี้แล้วไปเลิกวันนั้นนะคะ
แต่เป็นสิ่งที่เราศรัทธา เป็นการให้ความช่วยเหลือทำเท่าที่จะทำได้ เมื่อเราต้องการความสุขอะไรในชีวิตแล้ว
เราก็ต้องให้กับคนอื่นด้วย เราจะเป็นผู้ที่รับอย่างเดียวก็ไม่ได้นะคะ ต้องช่วยดูแลสังคมเพราะลูกหลานเราต้องเติบโตขึ้นมาในสังคมต่อไปค่ะ”
เรื่อง
พรพรรณ
ทัศนิจ
ภาพ
กิติพงษ์ กังสดานที
|
Last Updated ( Friday, 26 November 2010 )
|