แม่และยายของบารัก โอบาม่า |
|
|
|
Written by Administrator
|
Thursday, 02 December 2010 |
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทำให้ชาวโลกได้รู้จักผู้หญิงสองคนที่มีเรื่องราวน่ามหัศจรรย์เกี่ยวกับการเป็นแม่และยาย คนที่เป็นแม่คือ Dr. S. Ann Dunham Soetoro และคนที่เป็นยาย Madelyn Payne Dunham ทั้งสองคนมีส่วนสร้างผลงานที่เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศมหาอำนาจแห่งนี้
แม่โอบาม่ากับพ่อ ลูกสาว และลูกชายหลังย้ายกลับจากอินโดนีเซีย |
ดร.โซโตโร่มีชื่อเดิม Stanley Ann Dunham สาเหตุที่เธอย่อชื่อแรกเหลือเพียง S. เนื่องจากเธอไม่ชอบชื่อนี้ที่เป็นชื่อผู้ชาย และสาเหตุที่เธอถูกตั้งชื่อเช่นนี้ เนื่องจากพ่อของเธอที่ชื่อ Stanley อยากได้ลูกชาย ครั้นพอไม่ได้จึงตั้งชื่อผู้ชายให้ลูกสาว ตอนเป็นเด็กและวัยรุ่นเธอต้องทนกับการถูกล้อเลียนเรื่องนี้ จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่จึงบอกให้ทุกคนเรียกชื่อกลางของเธอ และต่อมาเรียกชื่อกลางและนามสกุลเดิม ซึ่งการต้องอดทนเป็นเวลายาวนานเลยทำให้แอนน์ ดันแฮมกลายเป็นคนที่ไม่กลัวอะไรหรือย่อท้อต่ออุปสรรค และนี่เป็นบุคลิกเด่นอย่างหนึ่ง สังเกตจากการที่เธอพากเพียรเรียนจนจบปริญญาเอกเมื่ออายุ 50 ปี ก่อนจะเสียชีวิต 2 ปีต่อมา และบุคลิกนี้ยังถูกถ่ายทอดให้ลูกชายอย่างครบถ้วน ดูจากการที่เขาสามารถเป็นประธานาธิบดีทั้งๆ ที่สีผิวของเขาเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง
ยอดคุณแม่คนนี้เกิดวันที่ 12 กันยายน 2485 ในรัฐแคนซัส พ่อและแม่ของเธอแต่งงานกันตั้งแต่อายุยังน้อย และเนื่องจากตอนนั้นเป็นช่วงสงคราม ฝ่ายชายจึงต้องไปเป็นทหาร ขณะที่ฝ่ายหญิงทำงานเป็นกรรมกรในโรงงานเครื่องบิน จนสงครามสงบจึงกลับมาอยู่ด้วยกัน แต่กระนั้นชีวิตของครอบครัวก็เต็มไปด้วยการระหกระเหิน เนื่องจากหัวหน้าครอบครัวที่มีอาชีพเป็นพนักงานขายเฟอร์นิเจอร์ เป็นผู้ชายที่ชอบแสวงหาความก้าวหน้ามีงานดีกว่าที่ไหนเขาจะต้องไปที่นั่น ทำให้ตั้งแต่แอนน์อายุ 3 ขวบถึง 13 ปี เธอต้องย้ายบ้าน 4 ครั้ง และในที่สุดจบที่รัฐวอชิงตัน ที่นี่แอนน์เข้าในโรงเรียนที่อยู่ในชุมชนคนหัวสมัยใหม่ เลยได้รับการสอนให้กล้าทำตัวแปลกกว่าคนอื่นและให้ค้นหาเหตุผลก่อนจะเชื่ออะไร และนี่เป็นอีกบุคลิกเด่นของเธอ ซึ่งได้ทำให้เธอกล้าแต่งงานกับคนผิวดำและต่อมากับคนเอเซียที่เป็นมุสลิม และยังทำให้เธอหันไปมีอาชีพเป็นนักพัฒนาชนบท
คุณแม่ยังสาวกับลูกชายอนาคตประธานาธิบดีตอนอายุก่อนเข้าเรียน |
โดยเน้นด้านการจัดทำโครงการให้สินเชื่อแก่ชาวบ้านยากจนในประเทศโลกที่สาม เพราะเธอเชื่อจะทำให้ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปาก
แอนน์เรียนจบชั้นมัธยมปีเดียวกับที่พ่อของเธอตัดสินใจย้ายบ้านอีกครั้ง โดยคราวนี้เป็นรัฐฮาวาย ปีนั้น 2503 และที่นี่เธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแห่งรัฐฮาวาย เรียนได้ไม่นานเธอได้พบกับบารัก โอบาม่า ซีเนียร์ นักศึกษาจากเคนย่า ทั้งสองใกล้ชิดกัน แต่ไม่มีใครคิดจะมีอะไร อย่างไรก็ดีในที่สุดทั้งสองได้แต่งงานกันในเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อมา เป็นการแต่งแบบเงียบๆ ไม่มีพิธี และไม่บอกใคร
และพอถึงเดือนสิงหาคมเธอได้ให้กำเนิดบุตรชาย ซึ่งพอถึงตอนนี้ทุกคนเลยเข้าใจที่เธอแต่ง เพราะเธอตั้งครรภ์ ตอนคลอดแอนน์อายุเพียง 18 ปี หลังจากนั้นเธอต้องออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อมาเลี้ยงลูก ปี 2505 สามีของเธอเรียนจบปริญญาตรีและได้รับทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เธอพร้อมกับลูกตามไปอยู่ด้วย แต่เดินทางกลับหลังจากนั้นเพื่อไปเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรัฐวอชิงตัน แต่ก็เรียนไม่นาน เดือนมกราคม 2506 แอนน์เดินทางกลับฮาวายเพื่อไปอยู่กับพ่อแม่ ระหว่างนั้นเธอยื่นฟ้องหย่าสามี และทั้งสองได้หย่าขาดจากกันในปี 2507 หลังจากนั้นเขาไม่ได้พบเธอและลูกชายอีกเลยจนกระทั่งปี 2514 เป็นการพบกันครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย เขาเสียชีวิตอีก 11 ปีต่อมา
หลังหย่าสามีแอนน์กลับไปเรียนมหาวิทยาลัยอีกครั้ง ชีวิตในช่วงนี้ของเธออยู่ได้เพราะได้ทุนช่วยเหลือการเรียน และได้แม่ของเธอช่วยเลี้ยงลูก เธอเรียนจนจบปริญญาตรี โดยก่อนจบเธอได้พบนักศึกษาชาวอินโดนีเซียที่ชื่อ Lolo Soetoro ทั้งสองรักกันและในปี 2510 ได้แต่งงานกัน ก่อนจะเดินทางไปอยู่ด้วยกันที่กรุงจาการ์ต้า โดยเธอพาบารักไปด้วย ต่อมาพอปี 2513 เธอได้คลอดลูกอีกคนที่เป็นลูกสาว ซึ่งปัจจุบันคือ Maya Soetoro-Ng ครูสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนในฮาวาย
ชีวิตที่กรุงจาการ์ต้าค่อนข้างลำบากสำหรับแอนน์และลูก จริงอยู่สามีของเธอทำงานในบริษัทน้ำมันต่างประเทศ แต่ตอนนั้นเขาเพิ่งเริ่มทำงาน ดังนั้นเงินเดือนจึงไม่สูงพอที่จะให้ครอบครัวอยู่แบบคนมีฐานะ
คุณยายกับคุณตาไปเยี่ยมหลานชายตอนเรียนมหาวิทยาลัยในนิวยอร์ก |
เธอและลูกต้องอยู่ในย่านคนอินโดนีเซียสามัญ ซึ่งเพื่อนบ้านของเธอยังจำได้เธอเป็นคุณนายฝรั่งที่ใจดี ใครเดือดร้อนไปหา เธอจะให้เงิน นอกจากนั้นลูกของเธอที่ทุกคนเรียก "นิโกร" ยังชอบทักทายคนที่เดินไปมา รวมทั้งชวนเด็กเพื่อนบ้านให้มาเล่นด้วยกัน
และนี่คือภาพของบารักในตอนนั้น เด็กผิวดำที่มีความมั่นใจในตัวเอง แม้ว่าจะต้องอยู่ในสังคมคนแปลกหน้าและในสภาวะที่แร้นแค้น ส่วนใครที่สงสัยทำไมเขาถึงพูดเก่ง คำตอบน่าจะอยู่ที่เขาต้องเรียนภาษาอินโดนีเซียตอนอยู่ในโรงเรียน ซึ่งทำให้เขาได้รู้จักการใช้ภาษาตั้งแต่เล็ก นอกจากนั้นทุกเช้าตอนตีสี่เขายังต้องตื่นเพื่อเรียนภาษาอังกฤษกับแม่ เป็นการเรียนแบบตัวต่อตัว ดังนั้นจึงมีพื้นฐานภาษาอังกฤษอย่างดี
ต่อมาแอนน์และสามีเริ่มระหองระแหงกัน เนื่องจากฝ่ายสามีชอบจะมีชีวิตแบบคนตะวันตก ขณะที่ฝ่ายภรรยาชอบแบบคนตะวันออก เมื่อเป็นเช่นนี้พอปี 2514 เธอจึงส่งบารักให้ไปอยู่กับตาและยาย ขณะนั้นบารักอายุ 10 ขวบ และเขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนพูนาฮู โรงเรียนเอกชนมีชื่อที่เก็บค่าเล่าเรียนแพงมาก แต่บารักเข้าเรียนที่นี่ได้ เพราะนอกจากจะได้เงินคุณยายช่วย ยังได้ทุนการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ
ปีต่อมาแอนน์แยกทางกับสามีชาวอินโดนีเซีย เธอเดินทางกลับฮาวายพร้อมด้วยลูกสาว และเข้าเรียนต่อปริญญาโทสาขามานุษวิทยา โดยเน้นหัวข้ออินโดนีเซีย เพราะพอถึงตอนนี้เธอหลงรักอินโดนีเซียและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นั่น ระหว่างเรียนที่นี่สามปี เธอและลูกอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์เล็กๆ ชีวิตอาจจะแร้นแค้น แต่ก็อบอุ่น เธอสอนลูกไม่ให้ลืมกำพืดตัวเอง อย่างบารักที่เธอแนะนำให้เขาฟังเพลงคนดำและรู้ประวัติคนดำที่เป็นบุคคลสำคัญ
ปี 2518 แอนน์เดินทางไปอินโดนีเซีย โดยคราวนี้ไปเพื่อทำวิจัยภาคสนามสำหรับการเรียนปริญญาเอก และหัวข้อวิจัยที่เธอเลือกคือ การตีเหล็กของชาวอินโดนีเซีย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวิทยานิพนธ์ความยาว 1,000 หน้า ที่เล่าถึงความเป็นมาของอาชีพนี้ในประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ความสำคัญที่มีต่อชุมชน และแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนา และพร้อมกันเธอยังทำงานเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาชนบทให้กับหน่วยงานให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศหลายแห่ง
โดยหน้าที่หลักของเธอคือ การวางโครงการสินเชื่อชนบท ตอนนั้นการปล่อยสินเชื่อเช่นนี้ยังไม่มีใครสนใจ ดังนั้นเธอจึงเป็นผู้บุกเบิกคนหนึ่ง เรื่องแปลกคือ ขณะที่เธอลงไปช่วยชาวอินโดนีเซียให้พ้นจากความยากจน ลูกชายของเธอก็ทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ทำกับชาวอเมริกันในนครชิคาโก้ ทั้งสองติดต่อกันตลอดเวลา ดังนั้นแอนน์จึงมีเรื่องเล่าให้เพื่อนๆ ทราบถึงความเก่งของเขาตั้งแต่ตอนนั้น
ลูกเขยครอบครัวดันแฮมไปเยี่ยมลูกชายครั้งแรกและครั้งเดียว |
แต่เธอบุญน้อย ปี 2537 เธอล้มป่วยและกว่าจะรู้เธอเป็นมะเร็งรังไข่และมดลูกเวลาก็ล่วงเลยจนถึงปีต่อมา ขณะนั้นเธอได้ไปเยี่ยมบ้านที่ฮาวาย ดังนั้นจึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่นี่ และอยู่ที่โรงพยาบาลจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 ขณะอายุ 52 ปี
คุณแม่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่คนนี้พบแต่ความผิดหวังตลอดชีวิต ก่อนตายเธอมีโอกาสอ่านหนังสือที่ลูกชายเธอเขียนเกี่ยวกับประวัติของเขา แปลกที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีประเด็นหลักที่แม่ แต่กลับมีที่พ่อ มีคนถามเธอเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เธอยังคงเป็นแอนน์คนเดิมที่ไม่เคยปริปากบ่นหรือว่าร้ายอะไรใคร อย่างไรก็ดี หลังเสียชีวิตลูกสาวของเธอได้ค้นพบร่างต้นฉบับที่เธอเขียนเกี่ยวกับประวัติของเธอเอง แต่อนิจจาเธอเขียนได้เพียงสองหน้า เป็นไปได้หรือไม่ที่เธอเขียนได้เท่านี้ เป็นเพราะชีวิตเธอแบกความผิดหวังไว้มาก จนเธอไม่มีใจเหลือที่จะเขียน
และเมื่อพูดถึงแม่โอบาม่า ก็คงต้องพูดถึงยาย เพราะเป็นข่าวมากเหมือนกัน โดยเฉพาะการที่เธอได้สิ้นใจก่อนจะรู้หลานชายได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เมดิลีน ดันแฮมเกิดในรัฐแคนซัสวันที่ 26 ตุลาคม 2465 ครอบครัวของเธอมีฐานะและเคร่งศาสนา อย่างไรก็ดี ถึงจะเคร่งศาสนา แต่ก็ไม่ได้ทำให้เมดิลีนเป็นเด็กเรียบร้อย ตั้งแต่เล็กเธอซนและชอบหาความสนุก และคงเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้เธอได้พบรักกับสามี Stanley Dunham ตั้งแต่ยังเรียนมัธยมปลาย ทั้งสองแอบแต่งงานในเดือนพฤษภาคม 2483 เป็นการแต่งที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่เห็นด้วย เพราะนอกจากฝ่ายชายจะอายุแก่กว่า 4 ปี ยังมาจากครอบครัวที่ยากจนและแตกแยก อีกทั้งเขายังทำงานเป็นพนักงานขายเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งไม่มีอนาคต ปีต่อมาสหรัฐอเมริกาถูกดึงเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสามีจึงไปเป็นทหาร ส่วนฝ่ายภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ไปเป็นกรรมกรในโรงงานสร้างเครื่องบิน เนื่องจากขณะนั้นประเทศกำลังขาดแคลนแรงงาน
เธอให้กำเนิดลูกคนเดียวที่เป็นลูกสาวปลายปี 2485 สงครามสงบ 3 ปีต่อมา หลังจากนั้นเธอต้องโยกย้ายตามสามีไปอยู่หลายรัฐ จนกระทั่งจบที่ฮาวายปี 2503 ระหว่างนั้นเธอยังคงออกไปทำงานนอกบ้าน โดยเริ่มจากการเป็นพนักงานเสริฟในร้านอาหาร จนกระทั่งเป็นเลขานุการในธนาคาร และจากการได้งานๆ นี้ที่ทำให้เธอขวนขวายเรียนต่อ จนในที่สุดเธอได้ทำงานในตำแหน่งรองประธานธนาคารในรัฐฮาวาย
ตอนย้ายไปอยู่ฮาวายใหม่ๆ และทุกอย่างเริ่มจะไปดีสำหรับครอบครัว ถ้าหากลูกสาวคนเดียวไม่ไปทำเรื่องกับนักศึกษาจากเคนย่า ทั้งเธอและสามีไม่เห็นด้วยกับการแต่งงาน แต่ทัดทานไม่ได้ ครั้นพอลูกสาวหย่าสามีและต้องเลี้ยงลูกตัวคนเดียว ทั้งสองได้เข้าไปช่วยเหลือแบบไม่ติดใจอะไร เช่นกันพอลูกสาวเอาหลานชายมาให้เลี้ยง ก็เลี้ยงอย่างดีที่สุด
บารัก โอบามาพูดถึงยายและตาของเขาไว้มาก เช่นตอนเป็นเด็กและเล่นกับเพื่อนอยู่ริมหาดหน้าบ้าน ตลอดเวลาเขารู้สึกอบอุ่น เพราะเขารู้สายตาของทั้งสองจะจ้องมองเขาเสมอ อย่างไรก็ดี บุญคุณสูงสุดที่เขาได้รับเห็นจะเป็นการได้เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมที่ดีมาก และที่เข้าได้ก็เพราะเส้นสายของยาย ซึ่งเป็นผู้หญิงอเมริกันเพียงไม่กี่คนในขณะนั้นที่ทำงานในตำแหน่งรองประธานธนาคาร
สามีของเมดิลีนเสียชีวิตปี 2535 สองปีต่อมาลูกสาวของเธอได้ล้มป่วย และเธอได้เป็นธุระดูแลจนวาระสุดท้าย หลังจากนั้นนาน 14 ปีชีวิตเธอมีความสุขกับการติดตามความก้าวหน้าของหลานชาย ที่ได้กลายเป็นนักการเมืองคนสำคัญ และเธอได้กลายเป็นบุคคลสำคัญไปด้วย เพราะมีสื่อที่ชอบไปสัมภาษณ์ เธอน่าจะอยู่จนถึงหลังหลานชายได้เป็นประธานาธิบดี แต่ทำอย่างไรได้เธอเสียชีวิตวันที่ 2 พฤศจิกายน ก่อนวันประกาศผลเพียง 2 วัน ทิ้งประวัติที่เป็นตำนานคุณแม่นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับลูกสาวของเธอ
ใครที่สงสัยทำไมบารักถึงพูดเก่ง คำตอบน่าจะอยู่ที่ทุกเช้าตอนตีสี่เขายังต้องตื่นเพื่อเรียนภาษาอังกฤษกับแม่ เป็นการเรียนแบบตัวต่อตัว ดังนั้นจึงมีพื้นฐานภาษาอังกฤษอย่างดี
|
Last Updated ( Thursday, 02 December 2010 )
|