หมวดหมู่บทความ Talks มากหมอ(ไม่)มากความ

Search by tag : Talks, มากหมอ(ไม่)มากความ, นายแพทย์สมสิทธิ์ ตันสุภสวัสดิกุล คุณหมอพ่อพระแห่งบำราศนราดูร


มีลูกยาก..แก้ง่าย ด้วยวิธีเด็กหลอดแก้ว PDF Print E-mail
Written by Administrator   
Sunday, 03 April 2011
หลายครั้งที่เรานำเสนอเรื่องการแก้ไขภาวะผู้มีบุตรยาก ซึ่งเป็นปัญหาในคู่สมรสหลายๆ คู่ที่ไม่สามารถมีบุตรได้เองตามธรรมชาติ อันเกิดจากสาเหตุต่างๆ โดยวิธีแก้ไขในปัจจุบันทำได้ง่ายขึ้น ด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นตามเวลา แต่ถึงอย่างไร หลายคนยังสงสัยเกี่ยวกับวิธีการเหล่านี้ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ทั้งการทำกิฟท์ อิ๊กซี่ เด็กหลอดแก้ว ไอวีเอฟ ฯลฯ ว่าเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือมีความแตกต่างกันอย่างไร และเทคนิคแบบไหนที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้มีลูกได้สมดังใจ
ฉบับนี้เราจึงเดินทางมาที่ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อพูดคุยกับนายแพทย์ปภากร มิ่งมิตรพัฒนะกุล แพทย์เวชศาสตร์เจริญพันธุ์ คุณหมออธิบายว่า
“เพื่อความเข้าใจต้องอธิบายเบื้องต้นก่อนว่า ลักษณะการตั้งครรภ์ในแต่ละครั้งนั้น เริ่มจากมีไข่ตกแล้วเดินทางเข้ามาในท่อนำไข่ ขณะที่น้ำอสุจิก็วิ่งผ่านจากปากมดลูก เข้ามาในโพรงมดลูก แล้ววิ่งต่อไปพบกับไข่ที่ท่อนำไข่ ซึ่งตอนปฏิสนธิเป็นชีวิตใหม่จะเกิดในท่อนำไข่ เมื่อปฏิสนธิเสร็จก็มีการแบ่งเซลล์ ซึ่งจังหวะที่แบ่งเซลล์ไปเรื่อยๆ ตัวอ่อนก็จะค่อยๆเคลื่อนที่กลับไปยังโพรงมดลูก ประมาณห้าถึงหกวันจะเริ่มเข้ามาถึงโพรงมดลูก แล้วฝังตัวเข้าสู่เยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อเจริญเติบโตเป็นเด็กต่อไป
...ในคู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยาก จะเกิดจาก 3 สาเหตุหลัก คือ หนึ่ง คุณภาพของน้ำอสุจิไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน อาจมีจำนวนน้อยไปหรือเชื้อไม่แข็งแรงก็ได้ และสอง คุณภาพตัวอสุจิปกติ แต่ท่อนำไข่ตัน ทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถพบกับไข่ได้ และสาม ตัวอสุจิผ่านมาได้ ท่อไม่ตัน แต่ปรากฏว่าไม่มีไข่ตกออกมา กรณีนี้ก็เจอได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ประจำเดือนสองเดือนมาที หรือรอบเดือนเกิน 35 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากภาวะเครียดมากๆ หรือการมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้รอบเดือนรวน การออกกำลังกาย ลดน้ำหนักก็จะช่วยได้ แต่ขณะที่บางคนมีปัญหาฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลเอง ซึ่งการออกกำลังกายและลดน้ำหนักช่วยไม่ได้มากนัก ต้องใช้ยาเข้าไปกระตุ้นรังไข่ให้มีไข่ตก
...แต่มีอีกประมาณร้อยละ 15 ที่ไม่พบสาเหตุทั้งสามข้อดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดจากสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่น ปากมดลูกไม่เอื้อต่อการเดินทางผ่านของตัวอสุจิ หรือมีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในอุ้งเชิงกราน หรือคุณภาพของไข่ค่อนข้างแย่มาก เป็นต้น ซึ่งบางภาวะก็สามารถตรวจยืนยันได้แต่บางภาวะก็ไม่สามารถทำได้จากการตรวจเบื้องต้น
...ส่วนแนวทางการรักษา ก็จะทำการรักษาให้ตรงตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ถ้าไข่ไม่ตกก็ใช้ยากระตุ้นทำให้ไข่ตก ถ้าท่อตันบางกรณีสามารถผ่าตัดแก้ไขได้ก็ทำการผ่าตัด แต่ถ้าไม่สามารถผ่าตัดได้ ก็ต้องทำเด็กหลอดแก้วเท่านั้น เพราะไม่มีทางที่จะปฏิสนธิในร่างกายได้แล้ว ส่วนกรณีน้ำอสุจิผิดปกติ ถ้าคุณภาพด้อยลงไม่มากนักก็ทำการคัดตัวอสุจิ น้ำอสุจิที่คัดแล้วก็จะมีคุณภาพที่ดีขึ้น แล้วจึงส่งเข้าไปในโพรงมดลูก แต่ถ้าคุณภาพแย่มากจนไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำก็จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นการทำเด็กหลอดแก้ว ดังนั้น จะเห็นว่ามันตรงไปตรงมา มีปัญหาตรงไหนก็แก้ตรงนั้น”

แนวทางแก้ไข
“สำหรับแนวทางการตรวจค้น ก็เริ่มจากทำการซักประวัติ ดูว่าคู่สมรสพยายามมีบุตรมานานเท่าไหร่แล้ว ซึ่งอย่างน้อยต้องหนึ่งปีขึ้นไป ฝ่ายหญิงมีประจำเดือนปกติหรือไม่ ประวัติการรักษาในอดีต เป็นต้น จากนั้นพอซักประวัติเสร็จ มักจะเริ่มจากการตรวจน้ำอสุจิของฝ่ายชาย ส่วนฝ่ายหญิงตรวจภายใน และตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดว่ามีซีสต์รังไข่ไหม มีเนื้องอกหรือเปล่า ต่อมาก็ดูเรื่องท่อนำไข่ ซึ่งปกติการอัลตร้าซาวด์จะไม่สามารถตรวจท่อนำไข่ได้ เพราะรูของท่อนำไข่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงหนึ่งมิลลิเมตร และขดไปมา การตรวจท่อนำไข่จึงต้องตรวจโดยการฉีดสีเข้าไปข้างในโพรงมดลูก สีที่เป็นน้ำจะไหลต่อไปยังท่อนำไข่ ถ้าท่อไม่ตัน ไหลไปสุดทางก็จะหลุดออกไปทางปลายท่อ แต่ถ้าตันก็หยุดอยู่แค่นั้น การตรวจนี้มักจะทำในคนที่อายุเกิน 30 ปี หรือมีประวัติเคยมีมดลูกอักเสบชัดเจน หรือมีลักษณะสงสัยเยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ เป็นต้น การแก้ปัญหาที่เกิดจากท่อนำไข่ตัน บางกรณีก็แก้ไขได้ด้วยวิธีผ่าตัด เช่น ถ้าตันที่ปลาย เราสามารถผ่าตัดส่องกล้องเปิดปลายออกได้ แต่ถ้าตันที่จุดต้นทางใกล้ตัวมดลูก สีที่ฉีดเข้าไปยังไม่สามารถผ่านได้ตลอดเส้นทาง ดังนั้นอาจจะมีจุดตันอีกหลายแห่งก็เป็นได้ เราจึงไม่สามารถผ่าตัดไล่เปิดทุกจุดได้ ควรจะต้องแก้ไขด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว
...แต่ถ้าปัญหาเกิดจากการที่ไข่ไม่ตก อันนี้แก้ง่าย ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน ส่วนใหญ่ก็แนะนำให้ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ลดความเครียดและกินยาปรับฮอร์โมนบ้าง สุดท้ายก็ใช้ยากระตุ้นไข่ซึ่งมีทั้งยารับประทานและยาฉีด เมื่อให้ยากระตุ้นไข่แล้ว ก็มีขั้นตอนในการอัลตราซาวด์ดูว่าไข่ตกเมื่อไหร่ ซึ่งคู่สมรสบางคู่จะมีประสบการณ์ใช้แถบตรวจหาฮอร์โมนการตกไข่ในปัสสาวะ แต่ทางการแพทย์เราใช้อัลตราซาวด์ เมื่อได้ข้อมูลจากการอัลตราซาวด์ก็จะนำมาคาดการณ์วันไข่ตกเพื่อกำหนดวันมีเพศสัมพันธ์ หรือวันฉีดน้ำเชื้อผสมเทียม
...ส่วนเรื่องเชื้ออสุจิ ถ้าคุณภาพไม่ดีก็ใช้วิธีคัดเชื้อเอา แต่ถ้าเชื้อไม่ดีมากๆ เช่น จำนวนตัวอสุจิน้อยมาก แค่หลักแสน หลักหมื่นต่อมิลลิลิตร กรณีอย่างนี้การคัดเชื้อเพื่อฉีดเชื้อผสมเทียมไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้เลย ต้องไปทำเด็กหลอดแก้วเท่านั้น หรือบางคนไม่มีดัวอสุจิเลยหรือที่เรียกว่าเป็นหมัน แต่ปัจจุบันเราสามารถผ่าตัดนำตัวอสุจิออกมาจากลูกอัณฑะเพื่อมาทำเด็กหลอดแก้วได้ ทั้งหมดที่ว่านี้คือแนวทางแก้ไขภาวะมีบุตรยาก”
จากกิฟท์ เป็นเด็กหลอดแก้ว
“จากข้อมูลที่ให้ไป เราเริ่มต้นง่ายๆ ก่อน คือการฉีดน้ำเชื้อ แต่พอกระโดดขึ้นมาจากฉีดน้ำเชื้อ มาเป็นการทำเด็กหลอดแก้ว มันจะซับซ้อนขึ้น ซึ่งเทคนิคเหล่านี้มันมีการพัฒนามาตามช่วงเวลา คือสมัยก่อนทางการแพทย์ยังไม่สามารถเลี้ยงตัวอ่อนนอกร่างกายได้ดี จึงมีการใช้เทคนิคการทำกิฟท์ (GIFT - Gamete Intra-Fallopian Transfer) โดยมีขั้นตอนผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง แล้วเก็บไข่โดยการเจาะดูดออกจากรังไข่ แล้วเอาเชื้อของฝ่ายชายมาผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงในท่อนำส่งเดียวกันในห้องผ่าตัด แล้วใส่กลับเข้าไปในท่อนำไข่ทันที ซึ่งไข่ที่ใส่เข้าไปนั้นยังไม่เกิดการปฏิสนธิ แค่จับให้มาอยู่ที่เดียวกับตัวอสุจิในที่ที่ควรอยู่ แต่จำนวนมากกว่าธรรมชาติเท่านั้น ส่วนการปฏิสนธิหรือไม่และกี่ใบ ไม่สามารถรู้ก่อนได้  เพราะเทคโนโลยีเวลานั้นยังไม่ก้าวหน้า ความแน่นอนในการเลี้ยงยังไม่ดี จึงต้องใส่เข้าไปทันที
...แต่พอเทคโนโลยีดีขึ้นเรื่อยๆสามารถเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการได้นานพอที่จะใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูกได้เลยโดยใช้ท่อเล็กๆสอดเข้าไปทางช่องคลอดผ่านรูปากมดลูก การนำไข่ออกมาจากรังไข่จึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเจาะเข้าไปทางหน้าท้องอีกต่อไปแล้ว แต่ใช้เพียงเข็มเจาะผ่านทางช่องคลอดได้ แต่นั่นหมายความว่าตัวรังไข่ต้องถูกกระตุ้นให้มีไข่เยอะๆ ก่อน โดยการใช้ยาฉีดเหมือนฮอร์โมนกระตุ้นไข่จากสมอง แต่ปริมาณมากกว่าหลายเท่า ไข่เดิมที่เคยแย่งกันโตแล้วมีใบที่ชนะโตได้มากที่สุดเพียงใบเดียว กลายเป็นว่าใบรองๆ ก็สามารถโตขึ้นมาได้ด้วย จากปริมาณของฮอร์โมนกระตุ้นไข่ที่ฉีดเข้าไป ซึ่งถ้าอายุมากก็อาจกระตุ้นได้เพียงใบสองใบ แต่ถ้าอายุน้อยๆ บางทีก็ได้ถึงสิบใบ และข้อดีของการได้ไข่หลายใบคือโอกาสที่จะได้ตัวอ่อนไว้เลือกหลายใบ คือต้องเข้าใจว่าไข่ไม่มีความสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ โอกาสที่คนทั่วไปจะกำหนดวันมีเพศสัมพันธ์ให้ตรงกับวันตกไข่แล้วตั้งครรภ์มีเพียงร้อยละ 20 - 30 เท่านั้น แสดงว่าอาจมีไข่หลายใบที่ไม่ยอมปฏิสนธิ หรือมีไข่หลายใบที่ปฏิสนธิแล้ว เป็นเด็กแล้ว แต่ไม่ดีพอที่จะฝังตัว และยังมีเด็กที่ดีพอที่จะฝังตัวได้ แต่ยังไม่ดีพอที่จะเติบโตจนกระทั่งคลอดมีชีวิตได้ ซึ่งจะเห็นว่าธรรมชาติมีระบบคัดกรอง และไข่ใบเดียวไม่สามารถเจริญเติบโตจนเป็นเด็กได้เสมอไป
...ปัจจุบันกิฟท์จึงไม่ค่อยใครนิยมทำ เนื่องจากต้องมีการผ่าตัดร่วมด้วย โดยที่อัตราการตั้งครรภ์ใกล้เคียงกันระบบการเลือกของเด็กหลอดแก้วจะเห็นได้เลยว่าเข้มแข็งกว่าระบบการเลือกของกิฟท์ ดังนั้นการทำกิฟท์จึงลดลงไป แต่หลายคนยังติดเรียกว่าการทำกิฟท์ ทั้งที่มารักษาด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว”
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว IVF (In Vitro Fertilization)
“เริ่มจากการกระตุ้นให้ไข่มีการเจริญเติบโตหลายๆใบ แล้วเจาะดูดไข่ออกมาทางช่องคลอด นำไข่มาผสมกับน้ำอสุจิในห้องปฏิบัติการ เมื่อเกิดการปฏิสนธิจะเรียกว่า ไซโกต (Zygote) เป็นตัวอ่อนระยะเริ่มต้น พอเลี้ยงสักระยะก็เป็นเอ็มบริโอ (Embryo) แล้วจึงคัดเลือกและส่งตัวอ่อนเข้าไปยังโพรงมดลูก สำหรับเด็กหลอดแก้วยังมีเทคนิคเพิ่มเติมในกระบวนการปฏิสนธิ ซึ่งถ้าเป็นการทำเด็กหลอดแก้วธรรมดาเราจะคัดเชื้อที่แข็งแรงแล้วหยดลงไปให้มันอยู่ล้อมรอบไข่ปล่อยให้ตัวอสุจิเจาะเข้าไปในไข่เองเอง พอมีตัวอสุจิที่สามารถเจาะเข้าไปได้แล้ว เปลือกไข่จะทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้ตัวอสุจิอื่นไม่สามารถเข้าไปได้อีก แต่ถ้าเป็นกรณีอิ๊กซี่ (ICSI) จะใช้วิธีคัดเชื้อ เสร็จแล้วเลือกเอาตัวอสุจิที่รูปร่างสมบูรณ์ ว่ายได้รวดเร็วแข็งแรง ดูดเข้าใส่เข็ม แล้วเจาะเข้าไปในไข่แล้วปล่อยตัวอสุจิเข้าไปภายใน
...คราวนี้หลังการปฏิสนธิตัวอ่อนก็เริ่มแบ่งเซลล์ จะมีลำดับของมันชัดเจน วันที่ 1 ได้สองเซลล์ วันที่ 2 ได้สี่เซลล์ วันที่ 3 ได้แปดเซลล์ ไล่ไปเรื่อยๆ พอถึงวันที่ 5 เซลล์จะเริ่มแบ่งเป็นประมาณร้อยเซลล์ แต่เบียดตัวไปอยู่ในแนวริม ตรงกลางเกิดเป็นช่องน้ำ เหมือนเป็นถุงมีน้ำอยู่ข้างใน เรียกว่า บลาสโตซีสต์ (Blastocyst) ซึ่งเรามักใส่ตัวอ่อนใน 2 ระยะ คือ ระยะแบ่งเซลล์ประมาณวันที่ 2-3 และระยะบลาสโตซีสต์ ดังนั้นที่เรียกว่าการทำบลาสโตซีสต์ก็เป็นเพียงขั้นตอนหนี่งของการทำเด็กหลอดแก้วเท่านั้น ซึ่งตัวอ่อนที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีตามเกณฑ์จนถึงวันที่ 5 มีรูปร่างดีสมบูรณ์ ก็จะมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์มากที่สุด อาจจะถึงร้อยละ 50
...เพราะการเลี้ยงตัวอ่อนไว้ถึงวันที่ 5 จะทำให้เห็นความแตกต่างได้ชัดเจน เหมือนกับให้นักวิ่งมาวิ่งแข่งกัน ถ้าเป็นวิ่งแข่ง 100 เมตร ตอนวิ่งเข้าเส้นชัยจะเห็นว่าชิดกันมาก แต่พอให้วิ่ง 400 เมตร ก็จะเริ่มมีระยะห่างที่เห็นได้ชัดเลย ฉะนั้นจำนวนตัวอ่อนที่เราจะเลือก เราก็สามารถเลือกได้แม่นยำขึ้น แล้วเราก็ใส่น้อยลง เพราะเรารู้ว่าไม่ต้องใส่เยอะ ใส่น้อยก็มีโอกาสตั้งครรภ์แล้ว เพราะถ้าใส่เยอะ โอกาสที่จะได้ลูกแฝดก็มีมาก ทำให้โอกาสเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดก็มีมากไปด้วย เราไม่ต้องการเช่นนั้น เพราะจุดประสงค์หลักของเราคือต้องการให้เขาตั้งครรภ์ ไม่ได้ต้องการให้มีลูกแฝด
...แต่ตรงนี้มันขึ้นอยู่ที่คุณภาพตัวอ่อนด้วย บางคนคุณภาพตัวอ่อนไม่ดีพอ เลี้ยงไปถึงวันที่ 5 แต่ตัวอ่อนไม่สามารถแบ่งเซลล์ได้ตามเกณฑ์ อาจจะหยุดชะงักอยู่ที่ระยะใดระยะหนึ่ง เมื่อเราเห็นแนวโน้มเช่นนี้ในวันที่ 2-3 ก็จะรีบส่งตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกให้เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติดีกว่า มักจะพบในกรณีที่ฝ่ายหญิงอายุมาก ซึ่งเรารู้ว่าเลี้ยงต่อไปจนถึงวันที่ 5 แต่ตัวอ่อนมักจะแบ่งเซลล์ได้ไม่ถึงระยะตัวอ่อนบลาสโตซิสต์ เราก็ใส่ตั้งแต่วันที่สาม โดยส่วนใหญ่เราจะนัดให้มาวันที่สามก่อน แต่ถ้าวันที่สามคุณภาพตัวอ่อนดีพอสามารถเลี้ยงได้ต่อ ก็จะเดินหน้าไปถึงวันที่ห้า แล้วเลือกตัวอ่อนที่ดีที่สุดใส่เข้าไป ส่วนจำนวนตัวอ่อนที่จะใส่นั้นคู่สมรสต้องเข้ามาร่วมตัดสินใจภายหลังจากแพทย์ผู้ดูแลได้อธิบายคุณภาพตัวอ่อน โอกาสการตั้งครรภ์ และโอกาสการเกิดครรภ์แฝดให้ฟังจนเข้าใจดีแล้ว”

การเตรียมพร้อมก่อนทำ
“ตลอดการดูแลรักษาการทำเด็กหลอดแก้วจะนัดแบบเป็นผู้ป่วยนอกตลอด ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ถ้าเป็นคนที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอก็ไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า การกระตุ้นไข่ด้วยการฉีดยาจะเริ่มเมื่อมีประจำเดือนมาเท่านั้นไม่สามารถเริ่มตามใจชอบได้ เมื่อถึงช่วงที่ทำการเก็บไข่ผู้ป่วยต้องงดน้ำงดอาหารในวันที่เก็บไข่ เพราะมันต้องเจาะผ่านช่องคลอดเข้าไปเก็บไข่ที่รังไข่ซึ่งอยู่ในช่องท้อง ในวันที่ใส่ตัวอ่อน เราจะพิจารณาก่อนว่าคุณภาพตัวอ่อนที่ดีเรียงตามลำดับเป็นอย่างไร ให้คู่สมรสตัดสินใจร่วมกัน เสร็จแล้วก็ทำการใส่ตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูกโดยใช้อัลตราซาวด์ในการดูตำแหน่งที่เหมาะสมในโพรงมดลูกของการใส่ตัวอ่อน หลังทำให้นอนพักประมาณ 2 ชั่วโมง ไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล จากนั้นก็มีฮอร์โมนที่ต้องใช้ต่อประมาณ 2 สัปดาห์ มีทั้งชนิดรับประทาน เหน็บช่องคลอด เป็นต้น แล้วแต่ความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งมักเริ่มให้ฮอร์โมนตั้งแต่วันเก็บไข่มาแล้ว และต้องให้ตลอดจนถึงวันเจาะเลือดตรวจการตั้งครรภ์ ถ้าพบว่าไม่ตั้งครรภ์ก็ค่อยหยุดยา แต่ถ้าตั้งครรภ์ก็ใช้ยาต่ออีกประมาณ 6 – 7 สัปดาห์”
จะได้เด็กที่สมบูรณ์หรือไม่?
“ถ้าเป็นวิธีหยอดเชื้ออสุจิไปผสมกับไข่เฉยๆ พบว่าอัตราพิการของเด็กคือร้อยละ 4 เทียบเท่าประชากรทั่วไป ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ครับ ว่าวิธีนี้ไม่สามารถทำให้ได้ผลลัพธ์ที่เหนือธรรมชาติไปได้ ก็ต้องมีความเสี่ยงเหมือนประชากรทั่วไป แต่ถ้าเราเอาเชื้ออสุจิฉีดเข้าไปโดยตรงหรืออิ๊กซี่นั่นเอง ตรงนั้นมันจะเพิ่มอัตราเด็กผิดปกติได้อีกร้อยละ 1 กลายเป็นร้อยละ 5”
การคัดเลือกตัวอ่อน
“สำหรับการคัดเลือก ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันเรายังใช้รูปร่างของตัวอ่อนเป็นเกณฑ์ตัดสิน โดยจำนวนตัวอ่อนที่เลี้ยงมามักจะมากกว่าหรือเท่ากับที่เราวางแผนจะใส่กลับเข้าโพรงมดลูก แล้วให้ธรรมชาติการเจริญเติบโตของตัวอ่อนเป็นตัวตัดสิน แต่ถ้าได้จำนวนตัวอ่อนมากเราอาจแบ่งเลี้ยงแค่ 3 – 4 ตัว ตัวอ่อนที่เกินกว่านั้น เรานำไปแช่แข็งเก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานานหลายปี เทคนิคการแช่แข็งมีอยู่สองเทคนิคหลักๆ สามารถแช่แข็งได้ตั้งแต่วันที่ 1 วันที่ 3 หรือวันที่ 5 ซึ่งมีความยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้แล้วแต่สถานที่ที่ให้การรักษาและแพทย์ผู้ดูแล ซึ่งถ้ามีการแช่แข็งเอาไว้แล้ว ในรอบการใส่ตัวอ่อนแช่แข็งผู้ป่วยไม่ต้องฉีดยากระตุ้นไข่แล้ว แค่ใช้ยากระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกโดยวิธีรับประทาน แล้วต่อด้วยยาเหน็บช่องคลอด แล้วก็ละลายตัวอ่อนเพื่อใส่กลับเข้าโพรงมดลูกต่อไป ค่าใช่จ่ายในการรักษาจะลดลง เพราะยากระตุ้นไข่ค่อนข้างแพง ถ้าเราไม่ใช้ยากระตุ้นไข่ ค่าใช้จ่ายมักลดไปกว่าครึ่ง”
 ข้อจำกัด
“ที่สำคัญที่สุดคืออายุแม่ เพราะอายุแม่จะมีผลต่อคุณภาพของไข่และต่อเนื่องถึงความสมบูรณ์ของตัวอ่อน อีกอันที่ต้องระวังคือโรคเยื่อบุเจริญผิดที่ โรคนี้มักจะมีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตอยู่ในอุ้งเชิงกราน บางครั้งอยู่รอบๆ รังไข่ หรือเข้าไปภายในเนื้อรังไข่กลายเป็นช็อกโกแล็ตซีสต์ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังอยู่รอบๆ คุณภาพไข่ก็จะด้อยลง”

ข้อแนะนำ
“อยากให้เข้าใจหลักเกณฑ์ก็คือว่าถ้าพยายามมีเพศสัมพันธ์ 1 ปีแล้วไม่ใช้วิธีการคุมกำเนิดใดๆ เลย แล้วยังไม่มีลูก ก็ถือว่าเข้าเกณฑ์แล้ว โดยเฉพาะฝ่ายหญิงที่อายุมากยิ่งไม่ควรรอนาน เพราะเมื่ออายุตั้งแต่ 35 ปีเป็นต้นไป รังไข่จะเริ่มเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การรักษายากขึ้น สิ้นเปลืองค่ารักษามากขึ้น ทีนี้ถ้าไปพบแพทย์ท่านใดแล้ว แพทย์ก็จะเริ่มหาสาเหตุก่อนว่าต้องแก้ตรงไหน มันต้องเริ่มจากจุดที่เป็นปัญหาก่อนเพื่อให้การรักษาตรงประเด็น ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการรักษา แพทย์ผู้ดูแลจะมีแนวทางการรักษาเป็นมาตรฐานเป็นขั้นตอนที่จะค่อยๆเพิ่มความระดับขึ้น เหมือนหนังสือที่ปิดอยู่ ต้องค่อยๆ เปิดอ่านก่อน จะได้รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหนแล้วเดินหน้าไปเรื่อยๆ ขณะที่คู่สมรสที่มารับการรักษาก็ต้องทำความเข้าใจมาระดับหนึ่ง เวลามาพบแพทย์ครั้งแรกควรมาทั้งสามีและภรรยา
...อีกอันที่ฝากไว้ คือบุหรี่กับเหล้าทำให้สมรรถภาพทางเพศด้อยลงแน่นอน มีงานวิจัยชัดเจน ผู้ชายกล้ามใหญ่บึกบึนก็ใช่ว่าน้ำอสุจิต้องดีเสมอไป และสมรรถภาพทางเพศที่ดีไม่ได้หมายความว่าคุณภาพของน้ำอสุจิต้องดี ควรจะเตรียมใจรับการตรวจน้ำอสุจิไว้เลยครับ”

Profile
น.พ.ปภากร มิ่งมิตรพัฒนะกุล
เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา



วรวุฒิ ถาวรพรกวิน
ความเห็น (3)Add Comment
0
Nuntaporn tupderm
March 26, 2017
1.46.73.186
Votes: +0
...

สอบถามค่ะ.. ตัวอ่อนไม่ค่อยสวยถ
้าใส่(รอบฟรีสsmilies/wink.gifโอกาสต
ิดน้อยมากรึไม่ติดเ
ลยใช่ไหมค่ะทำicsiรอบ2ค
่ะ

0
Nuntaporn tupderm
March 26, 2017
1.46.73.186
Votes: +0
...

สอบถามค่ะ.. เรื่องตัวอ่อน(ถ้าตั
วอ่อนไม่ค่อยสวยsmilies/wink.gif โอกาสติดน้อยรึไม่ต
ิดเลยใช่ไหมค่ะ..ตอนนี้ทำicsi รอบ2ค่ะ

0
dodee2011
April 22, 2011
124.122.106.62
Votes: +0
...

อยากรู้เรื่องในบ้าน อยากอ่านเรื่องในครัว อ่านฟรี ฟรี ฟรี ไม่ต้องเสียตังค์ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://dodee2011.blogspot.com
สาระดีๆแบบฟรี ฟรี ไม่ต้องเสียตังค์

เขียนแสดงความเห็น
 
  smaller | bigger
 

busy
Last Updated ( Sunday, 03 April 2011 )
 
< Prev   Next >
นิตยสาร M&C แม่และเด็ก ฉบับที่ 558 มีนาคม - เมษายน 2564