หมวดหมู่บทความ สังสรรค์หรรษา Super mom

Search by tag : สังสรรค์หรรษา, Super mom, ศึกภาพลูกดาราคนดัง


ทนายนักปกป้องสิทธิจำเลย Kimberly Motley
Written by Administrator   
Monday, 20 July 2015
           ด้านหนึ่งของคนดังสมัยนี้คือ การออกไปรณรงค์ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและยกระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศโลกที่ 3 ทำเช่นนี้กันแทบจะทุกคน ที่ขึ้นชื่อที่สุดคงเป็นแองเจลิน่า โจลี่ ซึ่งยังไปในฐานะแม่ ทั้งช่วยเหลือเด็กกำพร้าและรับเด็กกำพร้ามาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม
แต่ในบรรดาทั้งหมดที่โลดโผนและเสี่ยงอันตรายที่สุดคงไม่มีคนไหนเกิน คิมเบอร์ลี่ย์
ม็อตลี่ย์ คุณแม่ลูกสองวัย 35  ปี ที่เป็นทนายความรับว่าความจำเลยที่ประสบความอยุติธรรมในอัฟกานิสถาน และปีที่แล้วเธอสามารถช่วยเหลือผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกจำคุกในข้อหาเป็นชู้สามีคนอื่นให้ได้รับนิรโทษกรรม
เห็นใบหน้าเธอคงรู้สึกแปลกใจ ไม่ต้องแปลกใจคิมเบอร์ลี่ย์เป็นลูกครึ่งอเมริกันผิวดำกับเกาหลี พ่อของเธอเป็นทหารอเมริกันที่ไปประจำการเกาหลีใต้ และระหว่างนั้นได้พบและแต่งงานกับผู้หญิงที่มาจากเกาหลีเหนือ ทั้งสองอยู่กินจนมีลูกด้วยกัน 4 คน แต่เคราะห์ร้ายหลังฝ่ายชายปลดประจำการและกลับไปสหรัฐฯ วันหนึ่งก็ประสบอุบัติเหตุรถยนต์จนไม่สามารถทำงานตามปกติ
ยิ่งกว่านั้นค่าสินไหมที่ควรได้รับยังถูกบริษัทประกันเพิกเฉยไม่ยอมจ่าย ฝ่ายหญิงเลยต้องออกมาทำงานแทน โดยทำพร้อมกับลูกที่ต่างต้องหางานทำหลังเลิกเรียน ซึ่งในกรณีของทนายความหญิงผู้นี้คือ ส่งหนังสือพิมพ์และเขียนเรียงความประกวด
เพราะต้องดิ้นรนครอบครัว เลยไม่มีโอกาสไปอยู่ในย่านดีๆ ของนครมิลวอกี้ในรัฐวิสคอนซินทางภาคกลางตอนเหนือของสหรัฐ แต่กลับต้องทนทุกข์อยู่ในย่านสลัมที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมและยาเสพติด อย่างไรก็ตาม ถึงลำบากแต่ครอบครัวก็อยู่กันได้ด้วยแรงผลักดันของผู้เป็นพ่อ ที่สอนลูกให้รักเรียนหนังสือและไม่ย่อท้ออุปสรรค
คิมเบอร์ลี่ย์เรียนเก่ง หลังจบมัธยมเธอขัดใจพ่อที่อยากให้เธอเรียนแพทย์ แต่เธอไม่ยอมเพราะต้องการเรียนกฎหมาย จะได้ช่วยเหลือคนถูกกระทำอย่างพ่อของเธอที่ถูกบริษัทประกันโกง
และเธอก็ทำเช่นนี้จริง หลังเรียนจบ แทนที่จะเข้าทำงานในสำนักกฎหมายเงินเดือนสูง
กลับสมัครเป็นอัยการว่าความคดีที่จำเลยร้องเรียนไม่ได้ความเป็นธรรมในรัฐบ้านเกิด โดยระหว่างนั้นเนื่องจากเธอมีหุ่นดีและใบหน้าพอไปได้ อีกทั้งยังคิดว่า การมีตำแหน่งนางงามอาจช่วยกระตุ้นคนให้สนใจงานที่ทำ รวมทั้งอุดมคติของเธอที่จะต่อสู้เพื่อคนถูกรังแก เธอจึงสมัครประกวดนางงามแต่งงานแล้วของรัฐวิสคอนซิน และได้รับเลือกในปี 2004 ก่อนไปประกวดมิสซิสอเมริกา แต่ไม่ได้ตำแหน่ง
คิมเบอร์ลี่ย์ทำงานเป็นอัยการนาน 5 ปี ก่อนจะสมัครไปทำงานที่อัฟกานิสถาน
4 ปีที่แล้ว โดยไปในฐานะเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมนักกฎหมายเกี่ยวกับการว่าความให้จำเลยในศาล โครงการนี้เป็นของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มองการละเมิดสิทธิจำเลยเป็นเรื่องใหญ่ในประเทศนี้
โดยการละเมิดมีทั้งการยัดเยียดข้อหาและกระทำทารุณกรรม แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ จำเลยที่ถูกละเมิดส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็ก ผู้ตั้งข้อหารู้ดีพวกนี้ไม่มีทางสู้ไม่ว่าหลักฐานจะชัดเจนแค่ไหน เพราะสังคมพากันยอมรับว่าต้องทำความผิดจริง โดยไม่รอฟังคำตัดสินของศาลอย่างประเทศที่เจริญแล้ว
ตัวอย่างคือ ผู้หญิงคนที่คิมเบอร์ลี่ย์ช่วยให้ได้รับนิรโทษกรรม ซึ่งความจริงถูกข่มขืนโดยสามีของลูกพี่ลูกน้อง แต่พอไปแจ้งความกลับถูกตั้งข้อหาและถูกนำตัวขึ้นศาล ศาลตัดสินจำคุกเธอ 12 ปี โดยระหว่างอยู่ในเรือนจำ เธอยังตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูกที่เกิดจากถูกข่มขืน
การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยนักโทษคนนี้เป็นข่าวไปทั่ววงการกฎหมายสากล เพราะในการช่วยลูกความให้พ้นผิด เธอบังอาจยื่นขอนิรโทษกรรมจากผู้นำประเทศ ซึ่งไม่เคยมีทนายความคนไหนเคยยื่นขอ อีกทั้งยังอ้างเหตุผลที่ไม่เคยมีใครคิดจะถูกหยิบยก นั่นคือ
การมีจริยธรรมของประเทศอัฟกานิสถาน
คือเธอมองปัญหาลูกความของเธอเป็นปัญหาทางจริยธรรม ไม่ใช่มนุษยธรรม
เจอเช่นนี้รัฐบาลถึงกับต้องยอม
ก่อนไปอัฟกานิสถาน คิมเบอร์ลี่ย์ไม่เคยเดินทางไปประเทศไหน และนี่เป็นความลำบากข้อแรก การต้องปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ใหม่ ซึ่งสำหรับอัฟกานิสถานยังเป็นพื้นที่ที่
แตกต่างจากที่เธอเคยอยู่ราวฟ้ากับดิน แต่เธอก็สู้ อย่างเรื่องพูดภาษาท้องถิ่นไม่ได้
เธอแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้สมาร์ทโฟนคอยแปลคำพูดที่ต้องการ ส่วนการพูดในศาล เธอใช้กลุ่มนักแปลที่ได้รับการฝึกฝน
แต่อุปสรรคทั้งหมดนี้ยังไม่เท่าการถูกข่มขู่ทำร้ายจากพวกไม่ชอบขี้หน้า ในจำนวนนี้รวมทั้งผู้มีอำนาจที่เรียกร้องสินบน แต่เธอไม่ยอมจ่าย
การทำงานของคิมเบอร์ลี่ย์กำลังกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนการยุติธรรมในอัฟกานิสถาน ด้านหนึ่งคือ การปราบการทุจริต ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมามีการจำคุกผู้พิพากษาแล้วถึง 60 คน
อีกด้านคือการปรับปรุงการทำงานของศาล ซึ่งหลายแห่งงานล้นมือจริง แต่ไม่น้อยเหมือนกันไม่ค่อยมีงาน
คิมเบอร์ลี่ย์มีสำนักทนายความในกรุงคาบุล 1 ใน 3 ของคดีที่เธอรับว่าความเธอไม่คิดค่าตอบแทน ดังนั้น รายได้จึงมาจากการว่าความคดีที่เหลือ ซึ่งส่วนมากเป็นชาวต่างประเทศที่ตกเป็นจำเลย บวกการเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้บริษัทที่เข้าไปทำธุรกิจ
เธอให้สัมภาษณ์ว่า ยิ่งเธอโด่งดังเท่าไหร่ การทำงานของเธอยิ่งมีอุปสรรค
โดยล่าสุดคู่อริของเธอได้หันไปใช้การถ่วงเวลาเพื่อทำให้เธอรู้สึกย่อท้อต่อการทำงาน
แต่เธอไม่ย่อท้อ ภายในปีนี้ให้รออ่านหนังสือที่เธอประพันธ์ ซึ่งน่าจะมีอีกหลายเรื่องที่คุณแม่คนนี้ยังไม่ได้บอกให้โลกรู้





.......................
บรรยายภาพ -
1. เธอนี่ล่ะ...คุณแม่นักสู้เพื่อสิทธิจำเลยที่กำลังเป็นข่าวโด่งดัง
2. เข้าประกวดมิสซิสอเมริกาเพื่อกระตุ้นคนให้สนใจงานที่ทำ
3. เดินไปทำงานบนถนนกรุงคาบูลที่เต็มไปด้วยอันตราย
4. ผู้หญิงที่ได้รับการช่วยเหลือกับลูกที่เกิดตอนถูกจองจำ
5. ผู้หญิงเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะถูกยัดเยียดข้อหา
6. อัฟกานิสถานประเทศที่ความอยุติธรรมยังฝังรากลึก

 

เรื่อง : กรีนทรี

ความเห็น (0)Add Comment
เขียนแสดงความเห็น

busy